GULF-PTT ฉลุย! บอร์ดอีอีซีเคาะราคา จ่อคิวเซ็นแหลมฉบัง 3 มูลค่า 8.4 หมื่นลบ. รอเข้าครม.

GULF-PTT เตรียมเซ็นสัญญารับงานแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่าโครงการ 8.4 หมื่นล้านบาท หลังยอมอัพผลตอบแทนให้รัฐเป็น 29,050 ล้านบาท “ศักดิ์สยาม” เผยบอร์ด EEC ประชุมวานนี้ ยอมรับราคาแล้ว เตรียมชงครม. พร้อมเร่งทำร่างสัญญาส่งอัยการ ก่อนนัดเอกชนลงนาม


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน วานนี้ (1 มี.ค. 2564) นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานผลการเจรจาต่อรองกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้นสัดส่วน 40%, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT) ถือหุ้น 30% และบริษัท China Harbour Engineering Company Limited ถือหุ้น 30%) เพื่อปรับเพิ่มผลตอบแทนแก่ภาครัฐในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มูลค่าโครงการ 84,361 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการเจรจาล่าสุดปรากฏว่ากิจการร่วมค้า GPC ยอมปรับเพิ่มผลตอบแทนแก่รัฐขึ้นเป็น 29,050 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 9.85% (ราคากลาง 32,225 ล้านบาท) ซึ่งตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างแล้วสามารถดำเนินการต่อได้หากผลตอบแทนที่เสนอมาไม่ต่ำกว่าราคากลางเกิน 10% ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ วานนี้ จึงมีมติรับราคาดังกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านี้กิจการร่วมค้า GPC เคยเสนอมาที่ 28,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขั้นตอนจากนี้ทางเลขา สกพอ.จะนำส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติผลการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังฯ จากนั้นการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้รับผิดชอบโครงการจะจัดทำร่างสัญญา นำส่งให้อัยการตรวจสอบ และเสนอร่างสัญญาต่อครม. เพื่ออนุมัติก่อนการลงนาม โดยประเมินว่าหลังจากครม.ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกแล้วจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็จะสามารถลงนามกับผู้รับงาน คือ กิจการร่วมค้า GPC ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของโครงการ EEC โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ประเภท Net Cost คือ เอกชนบริหาร จัดเก็บรายได้ และแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ มีพื้นที่พัฒนา 1,600 ไร่ มูลค่าการลงทุน 84,361 ล้านบาท โดยกทท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 53,490 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 30,871 ล้านบาท ประกอบด้วย การออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และบำรุงรักษางานส่วนโครงสร้างหน้าท่า รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ สำหรับโครงการฯ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในโครงการฯ และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 35 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี บริหาร 33 ปี)

ทั้งนี้ ตามแผนแล้ว EEC ประเมินว่า โครงการจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายในปี 2568 มีแผนการก่อสร้างแบ่งออกเป็น โครงสร้างพื้นฐาน 5 ปี (ปี พ.ศ. 2561-2566) และการก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย 3 ปี (ปี พ.ศ. 2565-2568) โดยโครงการฯ มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่ม 7 ล้านทีอียูต่อปี และเมื่อโครงการฯ เปิดให้บริการครบทุกท่าจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ประมาณ 18 ล้านทีอียูต่อปี

Back to top button