BPP โชว์ไตรมาส 1 โกยกำไรพันลบ. รุกเพิ่มกำลังผลิตแตะ 5.3 พันเมกฯ ตามเป้าปี 68

BPP โชว์ไตรมาส 1 โกยกำไรทะลุพันลบ. เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน เตรียม COD โรงไฟฟ้าเวียดนาม-ญี่ปุ่นเพิ่ม พร้อมเดินหน้าขยายกำลังผลิตแตะ 5.3 พันเมกฯ ตามเป้าปี 68


บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2564 ด้วยกำไรสุทธิ 1,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานอย่างมีเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย ที่มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงที่อัตราร้อยละ 83 และร้อยละ 85 ตามลำดับ แม้ในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าเอชพีซีจะหยุดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตที่ 2 ตามแผนก็ตาม รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน ที่สามารถจำหน่ายไอน้ำได้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกันยังสะท้อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความสำเร็จของการลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 73 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทฯ มีกำลังผลิตรวม 2,929 เมกะวัตต์เทียบเท่า และพร้อมขยายสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ BPP ในภาพรวมของไตรมาส 1/2564 เป็นไปตามความคาดหมาย ตอกย้ำการเดินตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และทิศทางการลงทุนที่มุ่งขยายพอร์ตพลังงานที่สมดุลและยั่งยืน

โดยบริษัทฯ สามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และดำเนินมาตรการลดต้นทุนในทุกส่วนของการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับในจีน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่มีอยู่ 3 แห่งก็รับผลบวกจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ความต้องการไอน้ำของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แม้ต้นทุนถ่านหินจะปรับระดับสูงขึ้น แต่บริษัทฯ ก็มีมาตรการในการบริหารจัดการต้นทุนผ่านระบบการจัดหาถ่านหินแบบรวมศูนย์เพื่อความสามารถในการต่อรองราคา รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าถ่านหินอย่างมีประสิทธิภาพในด้านการขยายการเติบโตด้วยเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพ การเพิ่มโรงไฟฟ้านาโกโซในญี่ปุ่นเข้ามาในพอร์ตก็ตอบโจทย์การลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศที่มีศักยภาพ ที่ใช้เทคโนโลยี HELE ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 3/2564 ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปถึงร้อยละ 57 ตามด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนเซนนุมะ (Kesennuma) และชิราคาวะ (Shirakawa) ในญี่ปุ่น กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณร้อยละ 60 และคาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/2564

ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบความพร้อมเพื่อเตรียมการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ และมีการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าเทคโนโลยี Ultra High Voltage ไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในจีนเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมณฑลหูเป่ย มณฑลซานซี มณฑลเหอเป่ย มณฑลปักกิ่ง มณฑลเทียนจิน และมณฑลซานตง

สำหรับในไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 1,228 ล้านบาท มีรายได้รวมจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีนจำนวน 1,812 ล้านบาท และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้าจำนวน 867 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าเอชพีซี และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt to Equity: Net D/E) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ 0.06 เท่า

“อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนที่ 0.06 เท่า อยู่ในระดับตํ่า แสดงให้เห็นถึงความสามารถของ BPP ในการเติบโตและความพร้อมสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต จากกำลังผลิตปัจจุบันรวม 2,929  เมกะวัตต์เทียบเท่า พร้อมเดินหน้าสู่เป้า 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ในปี 2568

ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ และพนักงานในทุกประเทศสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถี New Normal ได้ พร้อมที่จะยกระดับและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าในบริบทที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และสร้างการเติบโตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย

Back to top button