จัดทีม 5 หุ้นเช่าซื้อพื้นฐานแน่นรับผลดีมาตรการรัฐช่วยเกษตรกร

จัดทีม 5 หุ้นเช่าซื้อสินค้าเกษตรพื้นฐานแน่น-Dividend Yield สูง รับผลดีมาตรการภาครัฐฯ กระตุ้นแรงซื้อสินค้าให้เกษตรกร


จัดทีม 5 หุ้นเช่าซื้อสินค้าเกษตรพื้นฐานแน่น-Dividend Yield สูง รับผลดีมาตรการภาครัฐฯ กระตุ้นแรงซื้อสินค้าให้เกษตรกร

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อเช่าซื้อประเภทยานยนต์ อาทิ เครื่องจักรทางการเกษตร หลังพบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ถึงราคาหุ้นของกลุ่มดังกล่าวว่าจะสามารถปรับตัวขึ้น จากปัจจัยบวกที่ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรวงเงินรวมกว่า 45,000 ล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้ามากขึ้น โดยพบว่ามี 5 บจ. ที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ TK, S11, GCAP, THANI และ SINGER

 

อันดับ 1 บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 12.00 บาท โดยมองว่าเป็นหุ้นที่ได้รับผลบวกจากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัวกลับมา อีกทั้งยังได้อานิสงค์จากมาตรการช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐฯ

ด้านราคาหุ้น TK ปิดตลาดวานนี้ (23 มิ.ย.) ราคาอยู่ที่ 10.60 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 4.95% สูงสุดที่ 11.00 บาท ต่ำสุดที่ 10.20 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 82.58 ล้านบาท

 

อันดับ 2 บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ S11 นักวิเคราะห์  บล.เอเซีย พลัส แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 11.25 บาท หลังมองว่าเป็นหุ้นที่ได้รับผลบวกจากอานิสงค์มาตรการช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐฯ เช่นกัน

ด้านราคาหุ้น S11 ปิดตลาดวานนี้ (23 มิ.ย.) ราคาอยู่ที่ 8.45 บาท ลบ 0.05 บาท หรือ 0.59% สูงสุดที่ 8.70 บาท ต่ำสุดที่ 8.40 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 43.16 ล้านบาท

 

อันดับ 3 บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ให้ราคาเป้าหมาย THANI ที่ 4.25 ที่ P/E 13.6 เท่า DivYield 4.40% EPS Growth 11.22% ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าผลงานไตรมาส 2/59 ทั้งรายได้และกำไรจะเติบโตตามเป้า ส่วนสินเชื่อรถบรรทุกยังเติบโตไม่หยุด ล่าสุดปล่อยแล้ว 7,000 ล้านบาท ขณะสิ้นปีนี้จะปล่อยได้ถึง 18,000 ล้านบาท โต 18% หนี้เสียปรับลดต่อเนื่อง และเตรียมพิจารณาจ่ายเงินปันผลมากกว่าปีก่อนหน้า

ด้านราคาหุ้น THANI ปิดตลาดวานนี้ (23 มิ.ย.) ราคาอยู่ที่ 4.60 บาท ลบ 0.18 บาท หรือ 3.77% สูงสุดที่ 4.74 บาท ต่ำสุดที่ 4.52 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 93.46 ล้านบาท

 

อันดับ 4 บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP นักวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ให้ราคาเป้าหมายที่ 3.00 บาท โดยมองว่าบริษัทได้รับผลประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นโครงการสนับสนุนเงินทุนด้านการผลิต โครงการพักชำระหนี้เงินต้น และโครงการประกันภัยนาข้าว ทั้งนี้ GCAP มี market share สินเชื่อรถเกี่ยวข้าวสูงสุดในประเทศ อีกทั้งคาดผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงต้นปีจากการเข้าสู่ช่วง high season ซึ่งเป็นฤดูเกี่ยวข้าว การเปลี่ยนจาก el nino เป็น la nina ทำให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม และธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ด้านราคาหุ้น GCAP ปิดตลาดวานนี้ (23 มิ.ย.) ราคาอยู่ที่ 2.84 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง สูงสุดที่ 2.96 บาท ต่ำสุดที่ 2.84 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 21.35 ล้านบาท

 

 

อันดับ 5 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER นักวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก แนะนำหุ้น SINGER หลังมองว่าราคายัง Laggard กว่ากลุ่มค้าปลีก เนื่องจากราคาหุ้นไม่ค่อยปรับตัวขึ้นไป ทำให้ยังเทรด P/E ที่ถูกกว่าตัวอื่นๆ ในกลุ่ม พร้อมให้แนวต้าน 11.20-11.30 บาท และมีจุด Stop loss ที่ 10.50 บาท

ด้านราคาหุ้น SINGER ปิดตลาดวานนี้ (23 มิ.ย.) ราคาอยู่ที่ 10.20 บาท ลบ 0.60 บาท หรือ 5.56% สูงสุดที่ 11.00 บาท ต่ำสุดที่ 10.10 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 60.73 ล้านบาท

 

อนึ่ง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบ 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูกาลผลิตรอบใหม่ วงเงินรวมกว่า 45,000 ล้านบาท คาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.13%

สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย

1) สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 3.7 ล้านราย รายละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท รวมวงเงิน 37,860 ล้านบาท

2) ดูแลภาระหนี้สินเกษตรกรด้วยการพักเงินต้นเป็นเวลา 2 ปี ลดดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 2 ล้านราย รายละไม่เกิน 5 แสนบาท รวมวงเงิน 5,400 ล้านบาท

3) การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกรจำนวน 3 แสนราย วงเงิน 258 ล้านบาท

4) การประกันภัยพืชผล 7 ประเภท ให้เกษตรกร 1.5 ล้านราย รวม 30 ล้านไร่ วงเงิน 2,071 ล้านบาท

 

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.) ว่า หุ้น Leasing น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ  เด่นสุดคือ S11 และ TK จากประเด็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หนุนให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในสินค้าจำพวกยานยนต์ เช่น มอเตอร์ไซค์ และเครื่องจักรทางการเกษตร อย่าง รถไถ สร้าง Sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่มเช่าซื้อ ทั้ง TK  และ S11 ที่ล้วนมีพอร์ตสินเชื่อเป็นรถจักรยานยนต์จำนวนมาก (TK สินเชื่อ ผสมผสานทั้ง กทม. กับต่างจังหวัด  สินเชื่อส่วนใหญ่ของ S11 จะอยู่ใน กทม. สัดส่วนอยู่ใน กทม. 70% ที่เหลือ 30% ตจว.ประกอบกับขนาดพอร์ตสินเชื่อของ TK ที่ใหญ่กว่า S11)

เช่นเดียวกับ GCAP และ THANI ที่สินเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องจักรเพื่อการเกษตร อย่าง รถไถนา รถหัวลาก และรถบรรทุก และธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนสินค้า และขายสินค้า  รวมถึง  SINGER ก็น่าจะได้รับอานิสงค์จากนโยบายนี้เช่นกัน จากแรงซื้อที่จะเข้ามาในกลุ่มผู้บริโภค

ทั้งนี้ เมื่อประเมินตามปัจจัยพื้นฐานที่น่าสนใจ หากพิจารณาค่า P/E ต่ำ Dividend Yield สูง และ upside สูง ใน 2 ลำดับแรกคือ คือ TK ราคาเป้าหมาย 12 บาท มี P/E 10.6 เท่า และ DivYield 4.73% และยัง EPS Growth 14.37% ตามมาด้วย S11 ราคาเป้าหมาย 11.25 บาท มี P/E 11.1 เท่า  และ DivYield 3.61% และยัง EPS Growth 30.1% และรองลงมา THANI ราคาเป้าหมาย 4.25 บาท P/E 13.6 เท่า DivYield 4.40% EPS Growth 11.22% และ GCAP ราคาเป้าหมาย 2.39 บาท มี P/E 12.9 เท่า DivYield 4.66% ไม่มี EPS Growth

 

ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีการเริ่มฟื้นตัวนี้ ส่วนหนึ่งมากจากภาครัฐที่มีการเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ครม.มีการอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินรวม 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเน้นการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้กับชาวนา รวมถึงมาตรการประกันภัยพืชผล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

กลยุทธ์การลงทุนมองว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นการบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยฟื้นตัวขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อ COMMERCE (GLOBAL, HMPRO, CPALL, SINGER) และกลุ่ม BANK &Leasing (KKP, TCAP, TISCO, TK, THANI, SAWAD, MTLS) เด่น

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button