“ส.อ.ท.” ชงแผนพลังงานทดแทน-เร่งโรงไฟฟ้าชุมชน คาดสร้างมูลค่าทางศก. กว่า 1 หมื่นลบ.

“ส.อ.ท.” ชงแผนพลังงานทดแทน-เร่งโรงไฟฟ้าชุมชน หวังสร้างมูลค่าทางศก. กว่า 1 หมื่นลบ.


กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอกระทรวงพลังงาน เรียกร้อง 5 ข้อให้พัฒนาแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ทั้งเร่งรัดโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ (MW) หวังช่วยผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พร้อมส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป และรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน (Prosumer) รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ของ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน หรือ Alternative Energy Development Plan ภาคประชาชน” เพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ใน 5 ข้อ ได้แก่

1.ข้อเสนอการผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งหากรัฐบาลเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ได้ 150 เมกะวัตต์ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.03 หมื่นล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)  ในปริมาณวม 1,933 เมกะวัตต์ จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท ก็จะช่วยให้เกิดการจ้างงานร่วมหมื่นตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นความคุ้มค่าและเป็นโครงการที่ต้องรีบขับเคลื่อนโดยเร็ว

2.การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยปัจจุบันเห็นว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มีราคาถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า คณะทำงานฯจึงเสนอให้ภาครัฐ ลดขั้นตอนในการออก สามารถยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่ต้องขอใบอนุญาต รวมถึงอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer หรือการซื้อขายระหว่างกันได้ และมี National Energy Trading Platform รองรับการซื้อขายระหว่างกัน ขณะที่ภาครัฐควรรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อป ในอัตรา 2.60 บาท/หน่วย

ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ควรกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในแผน PDP อย่างชัดเจน โดยเพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อที่เหมาะสม และลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและความซ้ำซ้อนลง

ขณะเดียวกันรัฐควรรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย

3.การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ได้เสนอแนวคิดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยให้ลดขั้นตอนและลดความซ้ำซ้อนในการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ควรมีผังเมืองรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ นอกจากนี้ประชาชนควรมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดเก็บขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินควรสนับสนุนเงินทุนแก่โรงไฟฟ้าขยะ สนับสนุนงบประมาณแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในการจัดการบริหารจัดการขยะและให้นำเชื้อเพลิงขยะ(RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

4.การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง Prosumer ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชนและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้และเกินความต้องการใช้ให้แก่คนอื่นได้ พร้อมกันนี้ให้ปรับข้อกฏหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer ไปสู่ Wholesale Power Market ปรับปรุง Grid Code ให้เหมาะสมและรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยจัดทำโรดแมพที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนโครงสร้างระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเข้ามาของ Prosumer พัฒนา Digital Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน อนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ ฯลฯ

5.ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คัน และจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานีเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้า ซึ่งได้มีการศึกษาได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ,กรุงเทพฯ-สระบุรี และกรุงเทพฯ-อยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทาง ระยะเวลา 10 ปี เท่ากับ 1.28 แสนล้านบาท

Back to top button