มติ “ป.ป.ช.” ชี้มูล “ปารีณา” ผิดจริยธรรมร้ายแรง รุกป่ากว่า 700 ไร่ ส่อพ้นเก้าอี้ ส.ส.

มติ “ป.ป.ช.” ชี้มูล “ปารีณา” ผิดจริยธรรมร้ายแรง ถือครองที่ดินรัฐกว่า 700 ไร่ ส่อหลุดเก้าอี้ ส.ส.


นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หลังจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ปรากฎรายการที่ดิน 29 แปลง พื้นที่รวม 853-0-73 ไร่ ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ทั้งนี้ พยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2548 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1069 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยในปี 36 และปี 37 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาปี 54 มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้พื้นที่ อ.รางบัว อ.จอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และ ส.ป.ก.ให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

จากการไต่สวนปรากฏว่า น.ส.ปารีณา ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711-2-93 ไร่ โดยเบิ้องต้นได้กระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครอง แต่ในปี 55 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของน.ส.ปารีณา ทั้งหมด ต่อมา อบต.รางบัว ได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว เนื่องจากกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เพราะเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ น.ส.ปารีณา ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.แต่อย่างใด

ในปี 55-62 น.ส.ปารีณา ได้ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อ อบต.รางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี 61 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค.62 น.ส.ปารีณา ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท.5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดินจาก ส.ป.ก.และกรมป่าไม้ โดย ส.ป.ก.ได้แจ้งให้ น.ส.ปารีณา ส่งคืนที่ดินที่ครอบครอง และทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้งกรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับ น.ส.ปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711-2-93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า น.ส.ปารีณา เป็น ส.ส. ในฐานะผู้แทนของประชาชน ไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้น จึงมีมติว่า น.ส.ปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา แล้วศาลฎีกาประทับรับฟ้อง น.ส.ปารีณา จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เว้นแต่ศาลมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

Back to top button