
IMF หั่น GDP โลก ปี 68 เหลือ 2.8% เซ่นแรงกระแทกภาษีทรัมป์ ไทยต่ำสุดในอาเซียน 1.8%
IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.8% ชี้ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” สหรัฐฯ กระทบแรงวงกว้าง “ไทย” ถูกปรับลดเหลือ 1.8% ต่ำสุดในกลุ่ม ASEAN-5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook: WEO) ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 โดยได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในปี 2568 ลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียง 2.8% จากระดับ 3.3% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2569 คาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ 3.0%
IMF ให้เหตุผลหลักว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากความตึงเครียดด้านการค้าและความไม่แน่นอนทางนโยบายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Retaliatory Tariffs) ครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อัตราภาษีการค้าทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 100 ปี ถือเป็น แรงกระแทกเชิงลบที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ตามรายงานของ IMF
โดยในรายงานฉบับนี้ IMF ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.7% หรือลดลงถึง 0.9% โดยชี้ว่า ความไม่แน่นอนทางนโยบายที่รุนแรงขึ้น ความตึงเครียดทางการค้า และการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยลบสำคัญที่บั่นทอนการเติบโต
ขณะที่เศรษฐกิจจีน IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ลง 0.6% เหลือ 4.0% และคาดว่าปี 2569 จะเติบโตที่ระดับเดิม 4.0% โดยยังเผชิญแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เปราะบาง และการบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน 5 (ASEAN-5) ซึ่งประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตลงเกือบทุกประเทศ โดยประเทศไทยถูกปรับลดรุนแรงที่สุดในกลุ่ม คาดว่า GDP ปี 2568 จะเติบโตเพียง 1.8% และลดลงเหลือ 1.6% ในปี 2569 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่ม ASEAN-5
ส่วนอีก 4 ประเทศ IMF ยังคงคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตที่ 4.7% ทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่เวียดนามจะขยายตัว 5.2% ในปีนี้ ก่อนชะลอลงเหลือ 4.0% ในปีหน้า ด้านมาเลเซีย คาดว่าจะเติบโต 4.1% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น โดย IMF คาดว่า GDP ปีนี้จะโต 5.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในปีหน้า สะท้อนแรงสนับสนุนจากการเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แม้จะเผชิญกับอัตราภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ 17% แต่ภาคการส่งออกและการบริโภคภายในยังคงแข็งแกร่ง