รมว.คลังสหรัฐ ชม “ไทย” เสนอแผนเจรจา “การค้า” ยอดเยี่ยม ในเวทีเศรษฐกิจระดับโลกที่ซาอุฯ

“สก็อตต์ เบสเซนต์” รมว.คลังสหรัฐฯ ยกย่องข้อเสนอเอเชีย “ไทย” พร้อม “ไต้หวัน-เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่นำเสนอแผนความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ในการเจรจาการค้า


นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวบนเวทีการลงทุน Saudi-U.S. Investment Forum ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.68 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติคิงอับดุลอาซิซ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

เบสเซนต์ ระบุว่า สหรัฐฯ มุ่งเน้นการเจรจาทางการค้าในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำ พร้อมชื่นชมข้อเสนอจากอินโดนีเซีย ไต้หวัน และประเทศไทย ว่า “สิ่งต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างดีมากในส่วนนี้ของโลก”

“เรามีการเจรจาที่สร้างสรรค์กับญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำ แต่ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง พวกเขาได้มาหาเราพร้อมกับข้อเสนอที่ดีมาก อินโดนีเซียก็มีการติดต่อที่ดีมากเช่นกัน ไต้หวันเสนอแผนที่ยอดเยี่ยมบางอย่าง รวมไปถึงประเทศไทยก็ด้วยเช่นเดียวกัน” เบสเซนต์ กล่าว

ท่าทีของสหรัฐฯ สอดคล้องกับการเปิดเผยของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 พ.ค.ว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอ (Proposals) ต่อสหรัฐฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของไทย เปิดเผยว่า ไทยได้จัดทำข้อเสนอส่งตรงถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) รวม 5 – 6 ข้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางการค้า ลดดุลการค้า และสร้างสมดุลในความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

5 แนวทางข้อเสนอไทยเจรจาสหรัฐฯ ที่คณะเจรจาฯ เปิดเผยก่อนหน้านี้

  1. เน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตคุณภาพสูง ขณะที่สหรัฐฯ มีความสามารถด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยี และเกษตรกรรมระดับพรีเมียม หากเกิดความร่วมมือ คาดว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
  2. พร้อมเปิดตลาดและลดภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ภายใต้กรอบ National Trade Estimate 2025 เช่น การใช้โควตานำเข้าข้าวโพดแบบยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้กระทบผู้ผลิตภายในประเทศ
  3. เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐฯ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งจะช่วยลดดุลการค้า โดยเฉพาะแผนนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ เพิ่มไม่น้อยกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 39,800 ล้านบาท
  4. เสนอให้มีระบบคัดกรองสินค้าส่งออก ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ผ่านกระบวนการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต โดยยึดหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าของสหรัฐฯ
  5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ เพื่อลดแรงต้านทางการค้า และขยาย value chain โดยตรงจากไทย พร้อมทั้งลดแรงเสียดทานจากนโยบายภาษีของทรัมป์

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของเบสเซนต์ ซึ่งถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาการค้าภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ นับเป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงประเทศไทยในเชิงบวกอย่างชัดเจน สะท้อนมุมมองที่เปิดรับแนวทางความร่วมมือจากไทย

โดยเฉพาะในช่วงจังหวะที่สหรัฐฯ เพิ่งบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับแรกกับสหราชอาณาจักร และตกลง “พักรบทางภาษี” กับจีน 90 วัน ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10%

Back to top button