สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) ทำสถิติดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ประกาศมาตรการใหม่ๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้เฟดมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นโบอิ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,303.17 จุด ร่วงลง 633.87 จุด หรือ -2.05% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,750.77 จุด ลดลง 98.85 จุด หรือ -2.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,270.60 จุด ร่วงลง 355.47 จุด หรือ -2.61%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) โดยถูกกดดันจากการที่รัฐบาลเยอรมนีปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ขณะที่ข่าวลือที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกนั้น ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 402.98 จุด ลดลง 4.72 จุด หรือ -1.16%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,459.62 จุด ลดลง 63.90 จุด หรือ -1.16%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,620.46 จุด ลดลง 250.53 จุด หรือ -1.81% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,567.37 จุด ลดลง 86.64 จุด หรือ -1.30%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และการขยายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,567.37 จุด ลดลง 86.64 จุด หรือ -1.30%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA)  เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบร่วงลงเกือบ 10 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 52.85 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 10 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 55.81 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะแถลงมติการประชุม นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยฉุดสัญญาทองคำปรับตัวลงด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 6 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,844.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 14.9 เซนต์ หรือ 0.58% ปิดที่ 25.389 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 28.4 ดอลลาร์ หรือ 2.56% ปิดที่ 1,079 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 14.50 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,310.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.53% แตะที่ 90.6500 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.16 เยน จากระดับ 103.64 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8893 ฟรังก์ จากระดับ 0.8865 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2795 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2695 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2100 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2164 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3683 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3732 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7663 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7747 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button