ส่องสปอตไลท์ “ไทย-สหรัฐ” เปิดโต๊ะเจรจา 23 เม.ย. สัญญาณใหม่ที่ตลาดรอฟัง

เมื่อรัฐบาล “แพทองธาร” ส่ง “ทีมไทยแลนด์” บินไปวอชิงตัน เจรจาการค้าใหม่กับมหาอำนาจ “สหรัฐฯ” ท่ามกลางแรงกระเพื่อมที่มีอย่างต่อเนื่องจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0”


ไฮไลต์สำคัญของสัปดาห์หน้า คงหนีไม่พ้น “โต๊ะเจรจาการค้า” ระหว่างทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับรัฐมนตรีสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 23 เม.ย.นี้

แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศจะดำเนินมากว่าร้อยปีภายใต้กรอบ TIFA, IPEF และ APEC แต่บทสนทนาเก่าแก่เหล่านี้ กำลังกลับมาวางบนโต๊ะอีกครั้ง

ภายใต้ฉากหลังของเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อน และนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของรัฐบาล “ทรัมป์” สมัยที่ 2 ซึ่งเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากไทยสูงถึง 36% เพื่อแลกกับการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในปีที่ผ่านมากว่า 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทำให้กล่าวได้ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่ง “ความละเอียดอ่อนทางเศรษฐกิจ”

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2568 จะขยายตัวราว 2.5% พร้อมยอมรับว่า GDP ไตรมาสแรกอาจถูกปรับลด จากผลกระทบนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่ชัดเจน และเฉพาะเจาะจงต่อภาคการส่งออก

“จากผลกระทบการปรับภาษีสินค้านำเข้านั้น มีผลต่อ GDP ที่ต้องปรับลดลงแน่นอน แต่ผลของการขึ้นภาษีจะมาในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเราต้องรอดูพัฒนาการหลังจากนี้ เป็น Shock ที่ใหญ่ แต่เป็น Shock ที่มีความลึกในบาง sector ไม่เหมือนกับโควิด-19 ที่กระจาย ซึ่งก็ขึ้นกับผลของการขึ้นภาษีว่าจะอยู่ที่เท่าไร และการเจรจาด้วย แต่ GDP น่าจะต่ำกว่า 2.5% แน่ ๆ”  นายสักกะภพ ระบุ

ทั้งนี้การประชุม กนง. รอบต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.68 ซึ่งจะประมาณการ GDP ของไทยในปี 2568 ใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่าในปี 2567 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 15% ของมูลค่ารวม หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หากเกิดแรงสั่นสะเทือนจากภาษีหรือโควตา ย่อมกระทบโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

การเจรจาการค้าในวันที่ 23 เม.ย. แม้ยังไม่ใช่เวทีที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในทันที แต่รัฐบาลไทยกำลังส่งสัญญาณเชิงรุกที่ตลาดจับตามอง ผ่านการที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายพิชัย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยมีทีมที่ปรึกษาระดับสูงสนับสนุนอย่าง นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งเคยเป็นกุนซือเศรษฐกิจให้กับนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายยุคสมัย

สาระสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งการขยายโควตาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด สินค้า Net Importer ที่ไทยยังต้องนำเข้า เช่น ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดจากสหรัฐฯ การจัดทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีจากเมืองฮูสตัน รวมถึงการจัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ บนหลักการ 5 ข้อ ตั้งแต่ลดภาษี เปิดตลาดสินค้า สร้างสมดุลทางการค้า ไปจนถึงการยกระดับธรรมาภิบาล ป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศที่สาม

แม้จะยังอยู่ในระดับ “เฟรมเวิร์ก” แต่เนื้อหาเหล่านี้เพียงพอที่จะจุดประกายความหวังใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่กำลังมองหาทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจชะลอการปรับลดดอกเบี้ยไปถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในไตรมาส 2 มีแนวโน้มผันผวนสูง

สำหรับตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า (วันที่ 21-25 เม.ย.68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า จะเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,140-1,120 จุด และแนวต้านที่ 1,170-1,195 จุด โดยมีปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตาอยู่ 3 ประการหลัก ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียน, ตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคม และการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ

แม้ตลาดจะยังไม่คาดหวังผลลัพธ์ทางการค้าที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น แต่การเจรจาในครั้งนี้ อาจเป็นเหมือนประกายไฟเล็ก ๆ ที่จุดความหวังใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยในสายตานักลงทุน โดยเฉพาะ “ทุนต่างชาติ” ที่กำลังประเมินว่าไทยจะสามารถ “เชื่อมเศรษฐกิจโลก” ได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางภาวะเงินทุนทั่วโลกไหลเวียนอย่างระแวดระวัง

ในเชิงจิตวิทยาตลาด ท่าทีเปิดกว้างและความพยายามปรับท่าทีให้สมดุลของรัฐบาล ถือเป็น “ปัจจัยบวก” แม้จะยังเล็ก แต่ก็ “ถูกจังหวะ” เมื่อเทียบกับแรงกดดันที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญในปีนี้

ความคาดหวังจากการเจรจาการค้าครั้งนี้ อาจกลายเป็นคลื่นเล็กที่ปลุกตลาดให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หรืออย่างน้อยวันที่ 23 เม.ย. อาจเป็นวันแรกที่ไทยต้องเริ่ม “ฟังเสียงตัวเอง” บนเวทีการค้าโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Back to top button