TU ขึ้นอันดับ 1 ดัชนี “Seafood Stewardship Index” 2 ปีซ้อน

TU ได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อธรรมภิบาลและกลยุทธ์


บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1  เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับการทำงานตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ

โดยการทำงานของไทยยูเนี่ยนได้รับการประเมินและวัดผลโดยคณะทำงานอิสระ โดยไทยยูเนี่ยนได้คะแนนมากที่สุดใน 3 หัวข้อจากทั้งหมด 5 หัวข้อได้แก่  ธรรมาภิบาลและกลยุทธ์  การตรวจสอบย้อนกลับได้ และความรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นปีที่ 2 ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่อันดับที่ 1 ในปี 2562 ซึ่ง SSI ได้เว้นการจัดอันดับไปในปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี SSI ได้ประเมินบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกทั้งหมด 30 บริษัท  เพื่อเข้าใจว่าบริษัทเหล่านี้มีการทำงานด้านความยั่งยืนเพื่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งและมหาสมุทรอย่างไร รวมถึงตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติมากน้อยเพียงใด

โดยกระบวนการประเมินเริ่มพิจารณาจากความตระหนักรู้และการยอมรับที่บริษัทได้ทำผลงานในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม  จากนั้นจึงประเมินผลงานตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ว่าการดำเนินงานมีประสิทธิภาพในการจัดการกับอุปสรรคต่างๆ รวมถึงสร้างเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติในส่วนที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่  ดัชนี SSI ถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance) ได้กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อธรรมภิบาลและกลยุทธ์ เนื่องจากบริษัทมีกลยุทธ์ความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมและมีการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด และเรายังมองไปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกอีกด้วย  การที่ไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 อีกครั้งโดย SSI  ถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราที่สะท้อนให้เห็นถึงการทุ่มเททำงานในการที่จะพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องไปกับเป้าหมายของเราที่จะ ดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์”

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมีผลงานที่ดีในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ จากการที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงที่ทำผ่านโครงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเล หรือ  Ocean Disclosure Project ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ธุรกิจอาหารทะเลทั่วโลกใช้ในการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในการจัดหาวัตถุดิบ ไทยยูเนี่ยนในฐานะสมาชิกของ SeaBOS หรือSeafood Business for Ocean Stewardship และได้เข้าร่วมใน Global Dialogue for Seafood Traceability (GDST) ในการสนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

โดย SSI กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจาก “มีความมุ่งมั่นและชัดเจนในการทำงานเพื่อให้แรงงานบนเรือประมงมีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดี” และไทยยูเนี่ยนมีการตรวจสอบเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทว่าได้ปฏิบัติตามหรือไม่ รวมถึงแสดงรายงานต่างๆ  ซึ่งทาง SSI ยอมรับว่าไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงที่ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ SSI กล่าวว่าประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคนนั้นพึ่งพาอาหารทะเล “ดังนั้นบริษัทอาหารทะเลจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และนำอุตสาหกรรมอาหารทะเลไปสู่ความยั่งยืน”

Back to top button