พาราสาวะถี

พรุ่งนี้ (29 มีนาคม) ตามลุ้นกันว่าหนังสือ "ล้มจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" ที่เขียนโดย 1 อดีตรัฐมนตรีและ 4 อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมคิด เชื้อคง สุชาติ ลายน้ำเงิน นิยม ช่างพินิจ และ สุรสาล ผาสุข จะได้ขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแหงชาติสิริกิติ์หรือไม่ หลังจากที่งานเปิดตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่สวนรถไฟถูกขอร้องให้ยกเลิกและห้ามแจกหนังสือดังกล่าวด้วย


อรชุน

 

พรุ่งนี้ (29 มีนาคม) ตามลุ้นกันว่าหนังสือ “ล้มจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” ที่เขียนโดย 1 อดีตรัฐมนตรีและ 4 อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมคิด เชื้อคง สุชาติ ลายน้ำเงิน นิยม ช่างพินิจ และ สุรสาล ผาสุข จะได้ขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแหงชาติสิริกิติ์หรือไม่ หลังจากที่งานเปิดตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่สวนรถไฟถูกขอร้องให้ยกเลิกและห้ามแจกหนังสือดังกล่าวด้วย

เหตุผลในวันนั้นที่เจ้าหน้าที่แจ้งคือ การเปิดตัวหนังสือเข้าข่ายชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทำให้ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 และเนื้อหาหนังสืออาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งคนเขียนทั้ง 5 รายก็ยอมให้ความร่วมมือแต่โดยดี หากวันนั้นมีปัญหาแค่เกรงจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง วันพรุ่งนี้หนังสือดังกล่าวต้องขายได้

แต่หากใครที่อยากจะเห็นเนื้อหาเนื้อในว่ามีสาระเป็นอย่างไร แล้วไปรอซื้อปรากฏว่าหนังสือไม่ได้ขายหรือขายไม่ได้ ก็จะมีเหตุผลอยู่แค่ 2 ประการคือ หนึ่งคณะผู้จัดงานได้รับการร้องขอจากผู้มีอำนาจไม่ให้หนังสือดังกล่าววางจำหน่าย หนึ่งคือมีการตีความว่าหนังสือดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง และขัดต่อคำสั่งของคสช. รวมทั้งจะมียกเหตุผลเรื่องคำสั่งศาลมาประกอบ

เหมือนอย่างที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ใช้มาอ้างโจมตีหนังสือดังกล่าว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นหากย้อนกลับไปยังคนในพรรคของตัวเองก็มีการเปิดตัวหนังสือในลักษณะเดียวกัน งานนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจต่อเรื่องนี้อย่างไร หากเห็นว่าเป็นสิทธิของฝ่ายการเมืองที่ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวจะดำเนินการอธิบายให้สังคมเข้าใจ และไม่ใช่การชี้นำหรือกระทบต่อกระบวนการพิจารณาของศาล ก็ไม่ควรจะมีข้อห้ามใดๆ

ทว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีการปล่อยผ่านไปง่ายๆ ต้องไม่ลืมว่าประเด็นจำนำข้าวคือหัวใจหลักของคณะรัฐประหารในการที่จะใช้เล่นงาน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐบาลที่ผ่านมา มิเช่นนั้น คงไม่ใช้มาตรา 44 ในการยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เร่งรัดดำเนินการในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจำนำข้าว ซึ่งล่าสุดที่เห็นเด่นชัดคือการเรียกค่าเสียหายในโครงการจากทั้งยิ่งลักษณ์ พร้อม บุญทรง เตริยาภิรมย์ และคณะ

อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมมองอีกทางยิ่งปิดกั้นคนยิ่งอยากรู้อยากเห็น แน่นอนว่าในสังคมปัจจุบันไม่สามารถที่จะปิดหูปิดตาหรือสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ทางที่ดีควรปล่อยให้มีการจำหน่าย แล้วฝ่ายกระบอกเสียงของรัฐบาลและคสช.ต้องทำหน้าที่ชี้แจงในสิ่งที่เห็นว่ามีการพาดพิงและน่าจะเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ถ้าเดินแบบนี้น่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศสร้างความปรองดองมากกว่า

กล่าวสำหรับเวทีรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เวลานี้ดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้งในส่วนกลางที่กระทรวงกลาโหม และต่างจังหวัดดำเนินการโดยกอ.รมน. คาดหมายว่าน่าจะแล้วเสร็จกระบวนการรับฟังไม่เกิน 5 เมษายนนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง จนไปถึงขั้นตอนทำเป็นสัญญาประชาคมซึ่งวางเป้าหมายไว้ที่ปลายเดือนมิถุนายนนี้

คำถามที่มีอยู่ คู่ขัดแย้งมีเพียงแดงกับเหลืองและกปปส. เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ เท่านั้นหรือ ตรงนี้คือโจทย์สำคัญ หากยังละเลยข้อเท็จจริงก็ยากที่จะมีบทสรุปอันถูกต้อง ในเมื่อยังมีบางฝ่ายเห็นว่ากองทัพหรือทหารก็คือคู่ขัดแย้ง แต่ผู้มีอำนาจและองคาพยพที่เกี่ยวข้องกลับมองต่างมุม ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นปัญหาใหญ่ จะไม่อาจทำให้สัญญาประชาคมเกิดขึ้นได้

อย่าว่าแต่ขั้วขัดแย้งทางการเมืองที่ยังมองหาจุดร่วมกันไม่เจอ องค์กรอิสระกับกรธ.อันเป็นหนึ่งในองคาพยพของผู้มีอำนาจก็ทำท่าว่ายังจูนความคิดให้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้ ที่คาราคาซังยังไม่ยอมกันหนีไม่พ้นกกต.กับประเด็นเลิกกกต.จังหวัดเพื่อให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังยืนยันแนวทางเดิม แต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อ้างว่าหารือกันแล้วมีแนวทางพบกันครึ่งทาง

ตามความเห็นของสมชัยบอกว่า กรธ.โน้มเอียงในทางเห็นด้วยที่กกต.เสนอคือให้มีบอร์ดกกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้งในจำนวนไม่เกิน 100 คน ใช้งบประมาณกลมๆ ไม่เกิน 200 ล้านบาท ประหยัดกว่าแนวทางของกรธ.ถึง 6 เท่าตัว แต่ในวันเดียวกันแทบจะทันทีทันใดที่กกต.ชายเดียวพูด มีชัยก็ย้ำจุดยืนว่าต้องเลิกกกต.จังหวัด

จุดยืนของกรธ.ยังเห็นว่ากกต.จังหวัดคือตัวปัญหา มีข้อครหาเกิดขึ้นมากมายและกระทบชิ่งมายังภาพลักษณ์ของกกต.กลาง ประเด็นสำคัญหนีไม่พ้นการถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง เรื่องนี้ท้ายที่สุดจะไปวัดกันที่สนช.คล้อยตามกกต.หรือเลือกฝั่งกรธ. หากเห็นต่างกับผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญนั่นแหละที่จะเป็นปัญหา ต้องไปตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ส่วนประเด็นที่ยังไม่หมดไปแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติจนรอประกาศใช้แล้ว คือการเซ็ตซีโร่กกต. จน ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ต้องออกมามาถึงปัจจุบันไม่หวั่นเกรงเรื่องนี้อีกต่อไป ไม่ยึดติดตำแหน่ง ทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่รู้เป็นการพูดโดยหลักการหรือหวังกระทบชิ่งไปยังเสือสิงห์ที่นั่งหน้าสลอนกันในสภาหินอ่อนในนามพวกลากตั้ง พากันเสนอหน้าเอาใจผู้มีอำนาจเพื่อหวังจะได้ไปต่อหรือเปล่า

ภาษีหุ้นชินคอร์ปที่กรมสรรพากรได้รับโจทย์จากรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการประเมินเพื่อเรียกเก็บไปยังทักษิณ ได้ยิน ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีสรรพากรไม่การันตีจะจัดการทันสิ้นเดือนนี้หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องตกอกตกใจอะไรกัน เพราะตามแนวทางอภินิหารกฎหมายที่ วิษณุ เครืองาม ว่าไว้การประเมินต้องเริ่มอายุความกันใหม่ ไม่เกี่ยวกับ 31 มีนาคมอีกต่อไป

น่าเห็นใจไม่น้อยสำหรับกรมสรรพากรที่ต้องตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะวันวาน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็เพิ่งมายืนหนังสือร้องให้ยุติการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในทันที ด้วยเหตุผลจากเอกสารราชการที่เกี่ยวข้องสรรพากรทำไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมิน อายุความเลยกำหนด 10 ปี เป็นต้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนอดีตส.ว.นักร้องขยับอย่างนี้ทุกฝ่ายต้องชะงัก แต่มายุคนี้มนตร์ขลังที่เคยมีมันหายไปหมดแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลต้องวัดใจหน่วยงานสถานเดียว

Back to top button