การกลับมาของหุ้นหลุดจอง

ยากาศตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/60 จะซ้ำรอยเดิมปี 2558 มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นกับปาฏิหาริย์ใดๆ แต่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารบริษัท เจ้าของหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน อันเดอร์ไรเตอร์และผู้บริหารของตลาดฯ


พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

บรรยากาศตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/60 จะซ้ำรอยเดิมปี 2558 มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นกับปาฏิหาริย์ใดๆ แต่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารบริษัท เจ้าของหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน อันเดอร์ไรเตอร์และผู้บริหารของตลาดฯ

เดือนเมษายนปีนี้หุ้น 2 รายการใหญ่คือ TPIPP และ WHAUP เกิดอาการหลุดจองในวันแรกที่ทำการซื้อขาย ทำให้บรรดานักล่าหุ้นจองพากันขวัญเสียไปไม่ใช่น้อย สถานการณ์นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ช่วงไตรมาส 2/58 เกิดกระแส “หลุดจอง” กันจ้าละหวั่นเลยทีเดียว ทั้งที่ไตรมาส 1/58 หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เข้าเทรดในไตรมาสแรก ทำได้สวยงาม เพราะเป็นช่วงที่เรียกว่าตกค้างมาจากความสำเร็จของปี 2557

โดยไตรมาส 1/58 หุ้น IPO อย่าง PLANB, SCN, S11, TPCH, NDR, TREIT ประสบความสำเร็จยืนเหนือจองวันแรกกันทั้งหมด แม้บางรายจะเหนือไม่มากนัก แต่เมื่อย่างเข้าสู่ไตรมาส 2/58 เปรียบเสมือนหนังคนละม้วน โดยเฉพาะหลังจากหุ้น PLAT ที่หลุดจองน่าสยดสยอง ตั้งแต่วันแรกมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการหลุดจองที่ต่อเนื่อง นานกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะที่ตามมาอย่าง SLP และ GPSC ของเครือปตท. ที่ถูกแรงกดดันรอบด้าน ให้นักลงทุนล่าหุ้นจองไม่มองเห็นประโยชน์จะถือไว้ยาวนานเกินวันแรกเข้า ถือคติกำไรน้อย ดีกว่าขาดทุนมาก

สาเหตุของหุ้นหลุดจอง มีหลายเหตุแต่หลักทั่วไปแล้วเกิดจากการตั้งราคาสูงเกินจริง จากคนที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้บริหารบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์

เมื่อใดก็ตามที่ตลาดเป็นจังหวะตลาดขาขึ้น การตั้งราคาหุ้นจองมักจะกำหนดขึ้นมา มหาโหด” พอสมควร เนื่องจากมักใช้ ค่าพี/อีสูงกว่า 30 เท่า ขณะที่ในช่วงตลาดขาลงการตั้งราคาที่ระดับ พี/อีแค่ 15 เท่า มากเกินพอแล้ว

การกำหนดค่าพี/อีเสียสูงลิ่ว หาคำอธิบายไม่ได้เช่นกัน นอกเหนือจากความโลภ ว่าหุ้นที่มีพี/อีสูง แถมเข้าเทรดวันที่ตลาดหุ้นร่วงหนัก จะสามารถกระโดดเหนือจองโดดเด่นได้อย่างไร หรือจะให้อาศัยคำว่า ปาฏิหาริย์ก็พูดยาก หรือบังเอิญ กันอย่างมักง่ายไปเรื่อยๆ

สถิติเป็นหุ้นหลุดจองคือภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของบริษัทจดทะเบียนเสมอมา เพราะทำให้หุ้นได้รับความนิยมต่ำกว่าปกติ และส่งผลเสียต่อการระดมทุนคราวต่อไป

คำอธิบายอีกด้านหนึ่งคือการโยนปัญหาให้กับปัจจัยภายนอกตลาด เช่น แรงกดดันจากภาวะการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น หรือเข้ามาในตลาดขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปที่อยู่ในช่วงปรับฐาน

คำปลอบโยนซ้ำซากที่ตามมา คือ พื้นฐานของบริษัทยังมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งเป็นหุ้นที่ควรลงทุนในระยะยาว แต่คำปลอบโยนดังกล่าว ไม่ได้มีความหายอะไรมากกว่าจิตวิทยาแบบ มะนาวหวาน” ธรรมดาเท่านั้นเอง

ปรากฏการณ์ทั่วไปที่เราได้เห็นเมื่อมีอาการหุ้นหลุดจองในวันแรก ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทต้องร้อนตัวออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เป็นคนเทขายหุ้นในมือออกมาแม้แต่หุ้นเดียว แต่ยังทำการซื้อเพิ่มเพื่อรักษาราคาเอาไว้ โดยอ้างว่าราคาหุ้นลดลงมาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก พร้อมกับยืนยันว่า อยากให้นักลงทุนดูที่ผลประกอบการของบริษัท ทั้งยอดขาย และโครงการที่มีคุณภาพของบริษัทหลายโครงการ เนื่องจากบริษัทยังดำเนินการตามปกติ เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีให้แก่นักลงทุน ส่วนราคาหุ้นจะปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่อยากให้นักลงทุนมองระยะกลางถึงระยะยาวมากกว่า

ในมุมมองของนักลงทุน คำถามเรื่องเกณฑ์การเข้าตลาดของบริษัทที่ขายหุ้นจอง มีผลประกอบการขาดทุนก่อนเข้านั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ามาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์หย่อนยานลงหรืออย่างไร

ที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของตลาดมักจะออกมาพูดซ้ำซากเหมือนท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองว่า ตลาดหุ้น IPO ยังคงสดใสอยู่ โดยมีหุ้นที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นจำนวนมาก และไม่มีการเลื่อนแผนเข้าระดมทุนแต่อย่างใด แม้ภาวะตลาดหุ้นบางช่วงจะไม่เอื้ออำนวย จนส่งผลให้ราคาหุ้นบางตัวต่ำกว่าจอง แม้ในแง่ผลตอบแทนการลงทุนหุ้น  IPO อาจไม่มากเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ที่ปรับตัวขึ้นชนเพดานสูงสุด 200% เนื่องจากนักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรกมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงเกินไป จะเป็นแรงกดดันต่อผู้บริหารบริษัทและอาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

คำอธิบายดังกล่าว ให้ความชัดเจนถึงสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้คือ เรื่องขององค์ประกอบจากทั้งการเล่นเกมราคาหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่ ผสมกับกระบวนการขายหุ้นจองของที่ปรึกษาทางการเงินและอันเดอร์ไรเตอร์หลัก โดยมีผลประกอบการของบริษัทเป็นตัวสนับสนุนให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ได้น้อยมาก

สิ่งที่หลงเหลือ คือ ความทรงจำที่มักจะแหว่งวิ่น เพราะมีหุ้นใหม่ที่เหนือจองเข้ามากลบในเวลาต่อมา..

เป็นเช่นนี้ซ้ำซากจนชาชิน

บทเรียนเช่นนี้ หากมองจากคนเสมอนอก เป็นกรณีนักลงทุนที่ชอบซื้อหุ้นจอง ต้องจดจำกันไปอีกนานพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติมีแมงเม่าที่จดจำได้แม่นยำน้อยมาก..

Back to top button