ม้าแก่ชำนาญทาง

ปฏิกิริยาเข่ากระตุกทันทีที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (หมายเลข 349) ปิดที่ 0.055% ลดลง 0.005% จากระดับปิดในการซื้อขายวันก่อนหน้า สวนทางกับราคาพันธบัตรที่วิ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตร รับการคาดการณ์ที่ว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินจะดำเนินต่อไป


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ปฏิกิริยาเข่ากระตุกทันทีที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (หมายเลข 349) ปิดที่ 0.055% ลดลง 0.005% จากระดับปิดในการซื้อขายวันก่อนหน้า สวนทางกับราคาพันธบัตรที่วิ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตร รับการคาดการณ์ที่ว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินจะดำเนินต่อไป

การแต่งตั้งนายคุโรดะอีกสมัย ส่งสัญญาณต่อตลาดชัดเจนว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE อันเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “ศรลูกที่ 1” ของนโยบายอาเบะโนมิกส์ ของรัฐบาลนายชินโซ อาเบะ พรรคเสรีประชาธิปไตยจะยังมีต่อไป โดยไม่ใส่ใจว่าโลกรอบข้างจะเป็นเช่นใด

ในปี 2555 นายชินโซ อาเบะ ประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” ภายใต้หลักการ “ลูกศร 3 ดอก” (การผ่อนคลายทางการเงิน, การปรับงบประมาณการคลัง และการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ) เรียกคะแนนนิยมจนสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นได้สำเร็จ และสร้างความหวังว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยที่ซบเซา ภายใต้ภาวะเงินฝืดเรื้อรังมานานมากกว่า 10 ปี 

นโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีรัฐบาลญี่ปุ่นยุคใดกล้าทำมาก่อน (อาจจะเพราะอับจนจนเหลือทางเลือกสุดท้ายแล้ว) ทันทีที่กระทำคือการใช้ศรลูกแรก ปลดผู้ว่าการ BOJ คนเดิม แล้วตั้งนายคุโรดะมาแทน เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาล เนื่องจากจารีตของการเมืองการปกครองญี่ปุ่น ธนาคารกลางไม่เคยมีลักษณะพิเศษ และไม่เคยมี “อิสรภาพของธนาคารกลาง” แต่อย่างใด การปลดและตั้งผู้ว่า BOJ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่มีคนตั้งคำถาม

นายคุโรดะ เดินตามรอยของอาเบะโนมิกส์กำหนดไว้เคร่งครัด ด้วยการใช้มาตรการเดียวกับเฟด ECB ผ่านมาตราการ QE ได้เสนอการพิมพ์ธนบัตรออกมาเดือนละ 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ และยังกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนติดลบ แม้ว่าในช่วงแรกจะได้รับผลข้างเคียงที่ไม่คาดหมายบ้าง แต่ระยะต่อมากลับเป็นไปตามเป้า และมีส่วนทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และตลาดหุ้นของญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง จนทั่วโลกจับตาว่านายอาเบะจะเป็น “ซุปเปอร์แมน” ได้จริงหรือไม่ แม้ว่า 2 ปีหลังนี้ เริ่มมีคำถามมากขึ้นว่าอาจจะเป็นแค่ “ยูโตเปีย” เท่านั้น

โจทย์ค้างคาที่อาเบะโนมิกส์ไม่สามารถแก้ไขได้คือ สภาวะ “สังคมคนสูงวัย” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแบกภาระด้านการคลังจนหลังแอ่น และยังมีผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน กับ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่ำเตี้ยไม่เดินหน้าต่อ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเปราะบางมาก

ยิ่งกว่านั้น มาตรการ QE ก็มีผลทางลบให้เห็นมากขึ้นจากตัวเลขดุลการค้าที่แย่ลง จากการนำเข้าพลังงาน แม้ว่ายังโชคดีที่ราคาน้ำมันโลกลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ดุลการค้าไม่ทรุดลงมาก

แม้ว่าจะมีแรงกดดันรอบด้าน แต่นายคุโรดะ ยังคงยึดมั่นกับพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย เดินหน้าคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเอาไว้ต่อไป เหมือนกับสหภาพยุโรปที่ต้องอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่จบไม่สิ้น เหตุผลเพราะจนถึงล่าสุด มาตรการ QE ที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นไม่เคยขยับตัวเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ 2%

ปลายปีที่ผ่านมา นายคุโรดะ ได้ทำการแสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินมาตรการของ BOJ ที่ชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำหรับการบริหารมาตรการสมัยที่สองของเขา โดยระบุว่า BOJ จะเดินหน้านโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุก โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งเป็นมาตรการที่ย้อนแย้งกันในตัวโดยธรรมชาติ ในยามที่ธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยเฟดกำลังพิจารณาเอาจริงเอาจังกับแนวทางของการใช้ดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินลง สกัดเงินเฟ้อ

ความย้อนแย้งของ BOJ ในสมัยนายคุโรดะยุคสองที่จะเกิดขึ้น น่าจะส่งผลให้สภาพของตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างมึนงงกันพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการเคลื่อนตัวของฟันด์โฟลว์ที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้ว่า ควรจะเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือตลาดหุ้น ถึงจะดีกว่ากัน

มีคนช่างสังเกต ตั้งคำถามว่า ใน 1 เดือนมานี้ บทบาทของบรรดาเหล่ากองทุนเชิงรับ (Passive Fund) ที่เป็นกองทุนส่วนใหญ่ในตลาดเก็งกำไรโลก ทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของกองทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด เมื่อเริ่มมีเค้าลางว่าจะเกิดการผันผวนรุนแรงในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก

การขายสุทธิในหุ้นและตราสารหนี้อย่างหนักของฟันด์โฟลว์ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉพาะในตลาดหุ้นก็กว่า 30,000 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วตลอดทั้งปีที่มีเพียง 20,000 ล้านบาท ส่งสัญญาณบางอย่างชัดเจนว่า แม้ฟันด์โฟลว์จะมองเห็นตลาดทุนไทยเป็น “แหล่งลี้ภัยที่ปลอดภัย” จากเงินเฟ้อต่ำ และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ แต่กลับเกาะเล่นเกมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียว จนค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน

ความย้อนแย้งของนายคุโรดะที่ BOJ ผสมกับความเพี้ยนของโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งทำเนียบขาว เป็นอะไรบางอย่างที่นักลงทุนทั่วโลกจำต้องปรับตัวให้คุ้นเคย แม้จะมีสภาพ “เป็นม้าอ่อนต้องสอนวิ่ง”

Back to top button