พาราสาวะถี

ประกาศกับนักข่าวว่าไม่เคยลืมสิ่งที่ตัวเองพูดว่าเดือนกันยายนจะมีความชัดเจนต่อทิศทางทางการเมืองของตัวเอง สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุที่นักข่าวถามไม่ได้กลัวว่าจะลืม แต่เกรงว่าจะไม่ทำตามสัญญา เพราะการเลื่อนเลือกตั้งมาครั้งแล้วครั้งเล่า และหนนี้ที่ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะก็เริ่มก่อกระแสเจอโรคเลื่อนอีกแล้ว เช่นนี้จะทำให้เชื่อมั่นได้อย่างไร


อรชุน

ประกาศกับนักข่าวว่าไม่เคยลืมสิ่งที่ตัวเองพูดว่าเดือนกันยายนจะมีความชัดเจนต่อทิศทางทางการเมืองของตัวเอง สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุที่นักข่าวถามไม่ได้กลัวว่าจะลืม แต่เกรงว่าจะไม่ทำตามสัญญา เพราะการเลื่อนเลือกตั้งมาครั้งแล้วครั้งเล่า และหนนี้ที่ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะก็เริ่มก่อกระแสเจอโรคเลื่อนอีกแล้ว เช่นนี้จะทำให้เชื่อมั่นได้อย่างไร

เป็นสูตรสำเร็จไปเสียแล้ว พอถูกถามเรื่องนี้ทีไรก็จะบอกทุกครั้งว่าขอทำงานเพื่อบ้านเมืองก่อน เรื่องการเมืองไว้ทีหลัง ความจริงก็เขียนข่าวรอล่วงหน้าไว้ได้เลย เมื่อถึงเดือนกันยายนจะมีคำตอบอยู่แค่ 2 อย่างคือ สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยที่จะประกาศเรื่องทางการเมืองขอเลื่อนไปก่อน หรือไม่ก็อ้างประชาชนเรียกร้องจึงต้องไปต่อ โดยยกเอาข้อกฎหมายสารพัดที่เขียนกันมาโดยองคาพยพของคณะเผด็จการนั่นเอง

ลงแรงใช้สารพัดวิธีเพื่อกระโดดเข้าสู่อำนาจจากการยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยโดยที่ไม่ได้ลงทุนอะไร และเดินกันมาถึงขนาดนี้ มีหรือที่จะไม่ไปต่อ การรอจังหวะเวลาก็เพียงเพื่อให้มั่นใจว่ากุมความได้เปรียบทุกประตูเท่านั้นเอง ไม่เพียงอาศัยการเล่นลิ้นพร้อมกับตีหน้ายักษ์ขู่ของท่านผู้นำเท่านั้น แนวร่วมด้านอื่น ๆ ก็เคลื่อนไหวกันคึกคักโดยที่นักการเมืองอาชีพได้แต่มองกันตาปริบ ๆ

เล่นทั้งบทอ้างข้อกฎหมายและตีมึนการบังคับใช้ข้อกฎหมายสำหรับบางคนบางกลุ่ม เท่านี้ก็ดูกันออกแล้วว่า เส้นทางการเมืองของหัวหน้าเผด็จการและลิ่วล้อทั้งหมดจะเดินไปทิศทางใด สิ่งที่รอเวลาคือ หาเหตุที่จะมารองรับเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจะกลับมาสืบทอดอำนาจเท่านั้น เห็นได้จากคำถามที่ท่านผู้นำถามกลับนักข่าววันวาน “ทำไมประชาชนต้องคาดหวังที่ตน ทำไมไม่คาดหวังกับคนอื่น”

นี่ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า รายงานทุกฉบับที่ส่งขึ้นไปให้ท่านผู้นำได้พิจารณานั้น ระบุชัดว่าประชาชนต้องการให้อยู่ต่อ โดยชูปัจจัยหลักคือความสงบเรียบร้อย ทั้ง ๆ ที่ก็รู้กันอยู่ว่าไร้แรงกระเพื่อมเพราะทุกคนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือด้วยความยินยอมหรือใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกดทับเอาไว้กันแน่ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เผด็จการไม่ว่ายุคไหนสมัยใดไม่เคยใส่ใจอยู่แล้ว

เหมือนอย่างที่ ไทกร พลสุวรรณ เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่รายงานให้กับผู้บังคับบัญชากับสิ่งที่ข้าราชการระดับปฏิบัติการพบในพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคหนามยอกอกเผด็จการอย่างเพื่อไทยในภาคเหนือและอีสานนั้น เป็นคนละเรื่องกับเนื้อหาที่บอกไปกับเจ้านาย แต่ก็คงประมาทไม่ได้แม้รายงานจะไม่เป็นความจริง แต่สิ่งที่วางแผนและเดินเกมกันอยู่เวลานี้รายงานที่ว่าเป็นเท็จก็อาจจะกลายเป็นความจริงก็เป็นได้

ยืนยันมาโดยตลอดกลไกของเผด็จการไม่ว่าที่ใดในโลกนั้น คุณสมบัติสำคัญคือใจกล้า หน้าด้าน หากนึกภาพไม่ออกก็ลองให้ดูความเคลื่อนไหวของการเสนอขอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยกกต.ปมผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นอยู่เวลานี้ดูก็ได้ ทั้ง ๆ ที่มีเสียงคัดค้านแทบจะทุกภาคส่วน แม้กระทั่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสนช.เอง พอมีคนเห็นต่างเกินร้อยละ 90 ก็มียัดเยียดว่ามีแฮกเกอร์เข้าไปป่วน ปั๊มยอดตัวเลขเห็นต่างอย่างผิดปกติ

นึกภาพไม่ออกเหมือนกันหากมีคนแห่ไปกดเห็นด้วยถล่มทลายจะมีเสียงจับผิดออกมาในลักษณะนี้หรือไม่ มิหนำซ้ำ คนที่พูดก็รู้กันอยู่ว่าหัวโขนที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารสื่อนั้น น่าจะเข้าใจอารมณ์ร่วมของผู้คนได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังตะแบงกันไปได้ น่าเห็นใจเป็นทาสรับใช้เผด็จการมานานกว่า 10 ปี ได้ดิบได้ดีจากปลายกระบอกปืนมาต่อเนื่อง จึงต้องเสริมใยเหล็กเพิ่มความหนากว่าใครเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่เกิดขึ้นครั้งนี้หากไม่มีการใส่เกียร์ถอย แล้วเกิดผลักดันจนสามารถแก้ไขกฎหมายที่เพิ่งใช้บังคับได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งได้นำไปปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะเป็นบทพิสูจน์หากมีใครไปยื่นให้เกิดการตีความกระบวนการแก้ไขกฎหมายว่า จะแก้กันได้เฉพาะสภาของเผด็จการเท่านั้นหรือไม่

สะกิดดัง ๆ ด้วยความเป็นห่วงจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะคนเขียนกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ชี้เป็นสิทธิของสนช.ไปห้ามไม่ได้ว่ากันตามเหตุผล ถ้ากฎหมายออกมาแล้วมีอุปสรรคก็แก้ได้ เพียงแต่ต้องดูคิดรอบคอบหรือยังหรือสถานการณ์เปลี่ยน ตอนนั้นคิดผิดก็ต้องทำใหม่ “แต่จะควรหรือไม่ควร” ก็เป็นอีกเรื่อง แก้แล้วจะดีหรือไม่ก็ต้องกลับไปคิดมา       หากสมาชิกสนช.ผู้เข้าชื่อแก้กฎหมายเพราะรับไม่ได้ที่กกต.รักษาการบังอาจมาใช้อำนาจแทนว่าที่กกต.ที่ตัวเองเลือกไป มีชัยก็บอกให้สบายใจ ตอนนี้ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็แค่ขึ้นบัญชีไว้ กกต.ใหม่เข้ามาก็ทบทวนได้ เพราะยังไม่ได้ประกาศแต่งตั้ ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งมองไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องดันทุรังแก้ไขกฎหมายให้กลายเป็นขี้ปากเปล่า ๆ ปรี้ ๆ

มีเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะนำมาเปรียบเทียบหรือถามหาความรับผิดชอบจากสนช.ได้หรือไม่ ถ้ากรณีไม่พอใจผู้ตรวจการเลือกตั้งที่กกต.ปัจจุบันเลือกไปจนถึงขั้นจะขอแก้ไขกฎหมายคือความผิดพลาด ถามว่าแล้วที่สนช.มีมติเห็นชอบให้ พลตำรวจตรีรมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือปปง.ขึ้นเป็นเลขาธิการปปง. ล่าสุดถูกบิ๊กตู่ใช้ม.44 เด้งพ้นเก้าอี้นั้นหมายความว่าอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการที่จะยกมือผ่านให้ใครไปดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของสภาที่แต่งตั้งโดยเผด็จการ ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมตรวจสอบกันเข้มข้น ถึงขนาดที่เคยล้มรายชื่อมาแล้วหลายองค์กร แล้วกรณีนี้ปล่อยผ่านกันไปได้อย่างไร เพราะคำสั่งเด้งตามม.44 นั้นมีการระบุถึงเรื่องร้องเรียนและความไม่สุจริตบางประการ

ทั้ง ๆ ที่พลตำรวจตรีรมย์สิทธิ์เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการปปง.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา หากสนช.จะไปเที่ยวจับผิดใคร โดยเฉพาะกรณีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่แสดงการไม่ยอมรับ จะด้วยความรู้สึกหรือมีใบสั่งจากใครก็ตาม ก็ต้องย้อนกลับไปถามสภาเผด็จการด้วยว่า กรณีเลือกคนที่มีปัญหาให้หัวหน้าเผด็จการต้องใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้จะมีใครกล้ารับผิดชอบใด ๆ หรือไม่

Back to top button