กสทช. เผยประมูล 5G คลื่น 26 GHz ฮิตเข้าชิง 4 ราย ฟาก 1800 MHz ถูกเมินตามคาด!

กสทช. เผยประมูล 5G คลื่น 26 GHz ฮิตเข้าชิง 4 ราย ฟาก 1800 MHz ถูกเมินตามคาด!


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.วันนี้ อนุมัติรับรองผลการยื่นเอกสารเพื่อเข้าประมูล 5G ใน 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz)

สำหรับคลื่น 700 MHz และ คลื่น 2600 MHz  มีผู้ยื่นความประสงค์ร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทย่อยของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC , บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในกลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT

ส่วนคลื่น 26 GHz มีผู้ยื่นความประสงค์ร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด , บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทย่อย ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT

ขณะที่คลื่น 1800 MHz ไม่มีรายใดยื่นความประสงค์ประมูลเป็นไปตามคาด

ในวันที่ 14 ก.พ. สำนักงาน กสทช.จะจัดฟังการบรรยายสรุปการชี้แจงกระบวนการและกฎการประมูลคลื่นความถี่  4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz และในวันที่ 16 ก.พ. จะเคาะราคาประมูลโดยจะเริ่มเคาะราคา คลื่น 700 MHz ถัดมาคลื่น 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz

ทั้งนี้การประมูลคลื่น 700 MHz และ คลื่น 2600 MHz ที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือกลุ่ม ADVANC , TRUE และ CAT โดยคลื่น 700 MHz ที่ประมูล 3 ใบละ 5 MHz ซึ่งแต่ละรายต้องการ 10 MHz ขึ้นไป เพราะ 5 MHz น้อยเกินไป พอเข้าประมูล 3 รายจะต้องเคาะอย่างไรให้ได้ 10 MHz หรืออาจจะเคาะให้ได้ 15 MHz ถ้าเป็นเช่นนั้นคลื่นที่ออกประมูลไม่พอ

สำหรับ CAT เห็นว่าต้องการคลื่น 700 MHz รองรับคลื่น 850 MHz จะหมดอายุในปี 68 เพื่อทำงานได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ CAT ก็สามารถให้โอเปอเรเตอร์อื่นเช่าใช้แบบ MVNO หรือโครงข่ายเสมือนก็ได้

ส่วนคลื่น 2600 MHz ถ้าจะนำไปทำ 5G ก็ต้องมีคลื่น 70 MHz เป็นอย่างน้อย และจะบริหารคลื่นให้ได้ประสิทธิภาพต้องมี 100 MHz ขณะที่มีคลื่นออกประมูล 190 MHz แต่มีผู้ร่วมประมูล 3 ราย จำนวนคลื่นจึงมีไม่เพียงพอ

ถ้าจะทำ 5G ก็ต้องมีอย่างน้อย 70 MHz ถ้ามี 3 รายคนละ 70 MHz รวม 210 MHz ก็ไม่พอ มันต้องมีค่ายหนึ่งที่ได้น้อยกว่านั้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็มองว่า จะเคาะทำไม 70 MHz แต่เคาะเอา 100 MHz ถึงจะมาทำ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ ประชาชนถึงจะย้ายมาใช้ค่ายเขามากที่สุด เขาก็ต้องเคาะให้ได้ 100 MHz ถ้ารายหนึ่งรายใดหมดเงินก็เหลือ 2 รายการแข่งขันก็จะไม่แรง แต่ตอนนี้มี 3 ราย การแข่งขันก็จะรุนแรง”นายฐากร กล่าว

ขณะที่ CAT เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำตามนโยบายรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ที่จะให้ CAT ทำธุรกิจ อาทิ การให้บริการรักษาทางไกล หรือ Smart Hospital และ CAT เองก็มีเงินในมือ 7-8 หมื่นล้านบาท

โดยผิดคาดที่ DTAC ไม่เข้าร่วมคลื่น 2600 MHz และไปเข้าประมูลคลื่น 26 GHz ซึ่งยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะต้องรออุปกรณ์รองรับอีก 2-3 ปี ทั้งนี้คาดว่า DTAC อาจจะมีเงินลงทุนไม่พอ เพราะเพิ่งประมูลคลื่น 1800 MHz และ คลื่น 700 MHz มาเมื่อ 1 ปีกว่า แต่การเข้าร่วมประมูล 5G ครั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกขบวน ขณะที่ ทีโอที ก็เข้าประมูลเพื่อไม่ให้ตกขบวนเช่นกัน

Back to top button