KTC มั่นใจปีนี้กำไรนิวไฮ เน้นคุม NPL – ปล่อยสินเชื่อมีหลักประกัน

KTC มั่นใจปีนี้กำไรนิวไฮ เน้นคุม NPL, คุมคุณภาพให้ดี ตลอดจนเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพื่อรักษากำไรให้เป็นไปตามคาด


นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจกำไรสุทธิปีนี้จะสามารถทำสถิติใหม่อีกครั้ง หลังจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทกำไรสุทธิแล้ว 3,325 ล้านบาท แม้คาดว่าทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะออกมาต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงจะกระทบในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาไม่สะท้อนให้เห็นเด่นชัด

สำหรับคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อยอมรับว่าวันนี้ต่ำกว่าในครึ่งปีแรก แม้ว่าบริษัทจะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามลูกค้ายังคงได้รับผลกระทบส่งผลให้บริษัทต้องเพิ่มการตั้งสำรองให้สูงขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาส 2/2564 เพื่อรองรับลูกหนี้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยในช่วงเดือน ก.ค. และ ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้เห็นสัญญาณจากลูกหนี้ที่ดีมาเข้าโครงการพักชำระหนี้ที่มากขึ้น โดยบริษัทเน้นควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 4.40% เพิ่มขึ้นจากการนับรวมพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจาก Krung Thai Leasing (KTBL) เข้ามา ขณะที่ NPL ของธุรกิจบัตรเครดิต และ สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 1.50% และ 3.00% ตามลำดับ

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3/2564 บริษัทเตรียมการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write-off) ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจบริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตามหนี้เสียรวมจาก KTBL ทั้งหมดมีประมาณ 2,200 ล้านบาท บริษัทมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

“เราจะเน้นคุมหนี้เสีย คุมคุณภาพให้ดี ตลอดจนเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพื่อรักษากำไรให้เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไรขอเวลาอีก 1 – 2 เดือนก่อน เพราะต้องดูว่าภาครัฐจะออกมาตรการอะไรออกมาหรือไม่” นายระเฑียร กล่าว

ด้านนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC เปิดเผยว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาส 3/2564 จะยังคงติดลบ เนื่องจากในเดือนก.ค. ติดลบประมาณ 10% และ ส.ค. เห็นการติดลบอยู่ ซึ่งมาจากผลกระทบโควิด โดยเฉพาะหมวดการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ส่วนหมวดโรงพยาบาล ประกัน และ ซุปเปอร์มาร์เก็ตยังมีการเติบโต

 

Back to top button