อธิบายดีล JMART-บีทีเอส

JMART จะได้เงินจากการเพิ่มทุนแบบ PP (Private Placement)  หรือขายให้บุคคลในวงจำกัด นั่นคือ จาก VGI  จำนวน 136 ล้านหุ้นที่ราคา 30.337 บาทต่อหุ้น


จะสรุปธุรกรรมล่าสุดมารับทราบกันอีกครั้ง ระหว่าง กลุ่มเจมาร์ท (JMART) กับ บีทีเอส

เริ่มจาก หุ้น JMART จะได้เงินจากการเพิ่มทุนแบบ PP (Private Placement)  หรือขายให้บุคคลในวงจำกัด นั่นคือ จาก VGI  จำนวน 136 ล้านหุ้นที่ราคา 30.337 บาทต่อหุ้น

และทำให้ VGI ถือหุ้นในเจมาร์ท 15.0%

เจมาร์ทยังเพิ่มทุนแบบ PP ให้กับ “ยู ซิตี้” หรือ U อีก 342 ล้านหุ้น ที่ราคา 30.337 บาทเช่นกัน

และยู ซิตี้ จะเข้ามาถือหุ้นในเจมาร์ท 9.9%

หากรวมสัดส่วนการถือหุ้นของทั้ง VGI และ U

ทำให้ 2 บริษัทนี้ถือหุ้นในเจมาร์ทรวม 24.9% ไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

ขณะที่ “กลุ่มสุขุมวิทยา” ยังถือหุ้นใหญ่ในเจมาร์ท

การเพิ่มทุนแบบ PP ของเจมาร์ท ครั้งนี้ ทำให้ได้เงินมากว่า 1.038 หมื่นล้านบาท

ดีลยังไม่จบเพียงเท่านี้

นั่นเพราะ SINGER ที่ เจมาร์ทถือหุ้นอยู่  35.23% นั้น

ทางซิงเกอร์ฯ จะออกหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ให้กับ “ยู ซิตี้” จำนวน 197 ล้านหุ้น และจะมี SINGER-W3 ให้ ยู ซิตี้ อีกจำนวน 11.56 ล้านหน่วย อัตราใช้สิทธิ 1 : 1 ราคาใช้สิทธิ 36.3 บาท

วอร์แรนต์นี้มีอายุ 1 ปีครึ่ง

และยังมีการออกหุ้นแบบ Right Offering หรือ RO จำนวน 96 ล้านหุ้น ราคา 36.3 บาท ต่อหุ้น

จากการเพิ่มทุนรอบนี้จะทำให้ ยู ซิตี้ ถือหุ้นในซิงเกอร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 24.9%

แต่มีข้อแม้ว่า U จะต้องใช้สิทธิครบจำนวน

ส่วนเจมาร์ทนั้นจะถือหุ้นซิงเกอร์ลดสัดส่วนลงมาเหลือ 26.5%

เท่านั้นยังไม่พอ

JMT หรือ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ที่เจมาร์ทถือหุ้นอยู่ 53.95%

ทาง JMT ได้ประกาศเพิ่มทุนแบบ RO อัตราส่วน 4.558 : 1 คิดเป็นจำนวนหุ้น 240.9 ล้านหุ้น ราคาเพิ่มทุน 41.5 บาท

การเพิ่มทุนแบบ RO ของ JMT

ทำให้เจมาร์ทจะได้รับเงินอีก 1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน JMT ยังออก JMT-W4 ให้กับผู้ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน RO ใน อัตราส่วน 3.418 (หุ้นเพิ่มทุน RO) : 1 (วอร์แรนต์) โดยวอร์แรนต์มีอัตราการใช้สิทธิ 1 : 1 ที่ราคาใช้สิทธิ 90 บาท และมีอายุ 3 ปี

ธุรกรรมทางการเงินระหว่างเจมาร์ท กับบีทีเอส จะเป็นแบบนี้แหล่ะ

ส่วนที่เหลือนั้นคือความร่วมมือกันทางธุรกิจที่ต่างจะใช้จุดแข็งของแต่ละกลุ่มมาแสวงหา “โอกาส” ร่วมกัน

มีนัยสำคัญเพื่อต่อยอดหรือขยายธุรกิจออกไปให้เติบใหญ่

โครงการแรกที่จะเริ่มเห็นในไตรมาส 1/2565

นั่นคือ กลุ่มเจมาร์ทจะมีบริษัทอีกแห่งคือ “เจ ฟินเทค” ที่เป็นเจ้าของเหรียญ “JFin Coin

เบื้องต้น ทางกลุ่มบีทีเอส จะมีการนำ JFin Coin มาใช้กับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งล่าสุด ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาว่า จะมีส่วนไหน หรือกับธุรกิจไหนบ้างในกลุ่มบีทีเอส

นี่คือประเด็นที่ต้องติดตาม

ส่วนโครงการอื่น ๆ น่าจะค่อย ๆ ทยอยตามกันมา

ประเด็นที่น่าสนใจของดีลทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือ เจมาร์ท เติบโตมาจากธุรกิจโมบาย ก่อนจะค่อยขยับตัวเองมาเป็นกลุ่มธุรกิจการลงทุนทางการเงิน

การลงทุนทางการเงินของเจมาร์ทที่ว่านี้ เป็น Mega Trends หรือ ธุรกิจสมัยใหม่ มีอัตราการเติบโตสูงมาก

ทว่าเจมาร์ท อาจจะยังติดขัดเรื่องของฐานทุนบ้าง

ส่วนบีทีเอส เป็นกลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือ Traditional  อย่างอสังหาริมทรัพย์

ผู้บริหารของบีทีเอส ออกมายอมรับว่า เติบโตยาก

และไม่ค่อยมีกำไร หรืออาจแทบจะไม่มีกำไรเลย

แต่จุดแข็งของบีทีเอสคือ “ฐานทุน”

เมื่อฝ่ายหนึ่งมีฐานทุนที่เข้มแข็ง และอีกฝ่ายอยู่ในกลุ่มธุรกิจเมกะเทรนด์

จึงเป็นการ “ซินเนอยี่” (synergy) ที่มีพลังส่งสูงมาก

ประกอบกับการที่ผู้บริหารของทั้ง 2 กลุ่ม ต่างมีประสบการณ์ด้านการลงทุนสูงอยู่แล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาหุ้นของกลุ่มเจมาร์ท ทั้ง JMT SINGER และ J หรือตัวแม่เองคือ JMART

และบีทีเอส อย่าง VGI และ U

ราคาต่างปรับขึ้นอย่างร้อนแรงนับจากดีลได้ถูกประกาศออกมาเป็นทางการ

Back to top button