BDMS-BH-BJC หุ้นสวนตลาดแดง

หนีไม่พ้น! คงเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์แห่งความท้าทายสำหรับการซื้อขายหุ้นทั่วโลก และในประเทศไทย


หนีไม่พ้น! คงเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์แห่งความท้าทายสำหรับการซื้อขายหุ้นทั่วโลก และในประเทศไทย

ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 66 เพราะขานั้นผ่านฉลุย สะดวกโยธินไปแล้วตามคาดหมาย

แรงกดดันหลัก ๆ รอบนี้มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง

มีทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

จีนประกาศดัชนี PMI เมื่อ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานชี้วัดที่ 50 จุด

ตัวเลขข้างต้นเป็นเครื่องบ่งชี้สภาวะของภาคการผลิตและบริการ นั่นเองหมายถึงเศรษฐกิจจีนช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงประสบปัญหาหดตัวอย่างไม่ต้องสงสัย

ถัดมาวันที่ 1 มิ.ย. สหรัฐฯ เริ่มต้น “ปฏิบัติการลดบาลานซ์ชีท” หรือที่เรียกกันตามหน้าสื่อว่า QT ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ QE ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ประเดิมระลอกแรกด้วยการดึงเงินพิเศษออกจากระบบเดือนละ 4.75 หมื่นล้านเหรียญฯ เป็นเวลา 3 เดือน

จากนั้นจะเพิ่มเป็น 9.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ก่อนพิจารณาตามสถานการณ์กันต่อไป

ข้ามฟากแอตแลนติกมาที่ ECB หรือธนาคารกลางยุโรป จะประชุมเพื่อกำหนดนโยบายดอกเบี้ยกันในวันที่ 9 มิ.ย.

คาดการณ์ส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ประมาณ 0.25%

เหตุเพราะตัวเลขเงินเฟ้อรอบ พ.ค. พุ่งขึ้นสู่ระดับ 8.1% จาก 7.4% ในช่วงเดือน เม.ย.และมี.ค.

ขณะที่ยังต้องลุ้นว่าจะมีการระงับซื้อคืนพันธบัตรด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกันกับ QT ของเฟด

นั่นก็หมายถึงเงินที่เคยถูกปั๊มเข้ามาในตลาดเงิน-ตลาดทุนจาก 2 แหล่งใหญ่ ๆ ไม่เพียงแค่มีอันต้องหยุดไป แต่กำลังจะถูกดูดซัพพลายออกอย่างรวดเร็ว

ประหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ของตลาดหุ้นฉีกขาดฉันใด แรงซื้อซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงหายไปก็ฉันนั้น

โดยสหรัฐฯ เตรียมรายงานเงินเฟ้อเดือน พ.ค. กันในวันที่ 10 มิ.ย. นี้ ก่อนจะเข้าสู่การประชุม FOMC ของเฟดช่วงระหว่าง 14-15 มิ.ย.

เสียงส่วนใหญ่บอกว่ารอบนี้ “ดอกเบี้ยมะกัน” จะขึ้น 0.5%…ซึ่งดูแล้วคงไม่มีใครกล้าแทงต่ำ!

โจทย์ใหญ่คือจะเป็น 0.75% หรือไม่ หากว่าใช่คงวงแตก ดัชนีที่ว่าจะปรับลดลง ก็คงลงหนักมากขึ้นกว่าเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ว่าไปสถานการณ์ก็ไม่ต่างอะไรกับตอนนี้มากนัก

ทั้งจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ต่างประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมาในทำนองเดียวกัน ก็ถือเป็นการสร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นอยู่ไม่น้อย

ดัชนี SET บ้านเราปรับลดลงจาก 1,643.30 มาอยู่ที่ 1,584.38 จุด หรือย่อตัวลงมา 3.59% ในช่วงระหว่างวันที่ 5-13 พ.ค.

กระนั้นราคาหุ้นโรงพยาบาลใหญ่อย่าง BDMS กับ BH รวมถึงหุ้นค้าปลีกคือ BJC ก็สร้างปรากฏการณ์บวกสวนตลาดขึ้นมาท่ามกลางความผันผวน

โดยในช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะ ๆ BDMS ปรับตัวขึ้น 8.43%, BH บวก 6.50%, และ BJC ขยับขึ้น 5.15%

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีแรงกดดันต่อภาพรวม แต่อย่างไรเสียเงินที่ “เซอคิวเลท” อยู่ในตลาดก็ต้องวิ่งหาที่ลง ไม่ใช่ว่าขายทิ้งแล้วจะอยู่นิ่งได้ซะที่ไหน

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นแรงกระแทกจากเมืองนอก แต่ดูแล้วคงเป็นผลกระทบเชิงเซนติเมนต์เท่านั้น

ทั้ง “กรุงเทพดุสิตเวชการ” และ “บำรุงราษฎร์” ต่างพร้อมรับลูกค้าต่างชาติกันเต็มที่ตามกระแสการเปิดประเทศ บวกกับเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ก็คงเป็นแรงดึงดูดได้ไม่น้อย

ส่วน “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ได้รับอานิสงส์จากราคาขายสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในระยะสั้นถึงกลางยังไม่สะท้อนลงมาที่ต้นทุนตัวเองสักเท่าไหร่นัก เพราะมีสต๊อกเดิมพร้อมรอจำหน่าย

ราคาเป้าหมายสูงสุดของ BDMS และ BH อยู่ที่ 31 บาท และ 205 บาท ตามลำดับ จัดทำโดย FSSIA ทั้งคู่ ขณะที่ BJC ทำไว้ที่ 44.25 บาท โดยหลักทรัพย์ “ยูโอบี เคย์เฮียน”

3 หุ้นที่กล่าวถึงนี้ พอจะเป็นที่หลบภัย หรือเป็นที่แสวงหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตได้หรือไม่ สัปดาห์นี้คงได้รู้กัน…

Back to top button