4 โบรกเชียร์ซื้อ PCC เป้าสูงลิ่ว 4.80 บาท มองกำไรปี 65-66 โตเฉียด 40%

โบรกฯ ประเมินราคาพื้นฐาน PCC ระหว่าง 4.70-4.80 บาท คาดกำไรปี 65-66 เติบโตด้วย CAGR กว่า 39.2% จากการเพิ่มกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้า-ตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า PMW จากกำลังการผลิต 2,000 ถังต่อปี เป็น 7,500 ถังต่อปี


บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุถึงความน่าสนใจในการลงทุน บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PCC ได้แก่ 1.ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบครบวงจร ที่เติบโตพร้อมกับแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศอิงตามแผน PDP 2018 2.มีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายไฟฟ้าแรงสูง พร้อมผลิตติดตั้งระบบควบคุมสำหรับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและผลิตมิเตอร์อัจฉริยะ (Intelligent Grid)

โดยการเติบโตในปี 65 – 66 มาจากการที่ EGAT มีงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 23 โครงการ รวมถึง PEA, MEA มีแผนที่จะปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าให้สามารถรองรับการจ่ายไฟฟ้าที่ซับซ้อน และการนำสายไฟฟ้าลงดิน 3.บริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาไบโอแมส และโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาไบโอเพาเวอร์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 40 และ 76 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายที่ 18.2 เมกะวัตต์ (11.5 เมกะวัตต์คิดตามอัตราส่วนการถือหุ้น)

พร้อมกันนี้ ประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 65 – 66 คาดกำไรสุทธิจะอยู่ที่ 343 ล้านบาท และ 393 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิร้อยละ 69 และ 15 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้า (PEM) ตลอดจนการเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตให้เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเดียวกันกับการเพิ่มกำลังการผลิตของตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า (PMW) จากกำลังการผลิต 2,000 ถังต่อปี เป็น 7,500 ถังต่อปี

รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตตู้โลหะสำหรับตู้สวิตช์เกียร์ และตู้สวิตช์บอร์ด อุปกรณ์ควบคุม จากกำลังการผลิต 2,000 ตู้ต่อปีเป็น 3,200 ตู้ต่อปีและมีแผนที่จะขยายโรงงานผลิตไปยังกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ในต้นปี 66 รวมถึงการทำธุรกิจปลูกกัญชงในระบบปิดที่คาดว่าจะรับรู้รายได้เชิงพาณิชย์ภายในปี 65

ทั้งนี้ได้ใช้วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ได้ราคาเหมาะสมปี 66 ที่ 4.8 บาท ซึ่งมาจากการประเมินมูลค่าหุ้นด้วย PE Ratio เทียบกับบริษัทฯใกล้เคียงในตลาด โดยหุ้นที่นำมาเปรียบเทียบได้แก่ QTC ซึ่งประกอบธุรกิจขายหม้อแปลงไฟฟ้า AKR ซึ่งประกอบธุรกิจขายหม้อแปลงไฟฟ้าและบริการซ่อมบำรุงและรับออกแบบติดตั้งรวมทั้งก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และ GUNKUL ซึ่งประกอบธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง และให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยใช้ค่า PE เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (21/08/2563 – 22/8/2565) เท่ากับ 15 เท่า ในขณะที่ประมาณการ EPS 2566F อยู่ที่ 0.32 บาท ได้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 4.8 บาท

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประมาณการว่า PCC จะมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 25.4% CAGR ในปี 64-67 เพิ่มขึ้นจากโครงการในอนาคตที่การไฟฟ้ามีแผนจะปรับโครงข่ายระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประเมินว่าบริษัทฯ มีโอกาสในการเติบโตอีกมาก เนื่องจาก บริษัทฯ เป็นเพียง 1 ใน 6 เจ้าที่ได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าให้ผ่านการคัดกรองให้เข้าทำการประมูลงานส่วนใหญ่ได้

โดยใช้วิธีประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น PCC โดยใช้ P/E เฉลี่ยที่เป้าหมายในปี FY23 ของ GUNKUL QTC TRT DEMCO ACE และ SSP เนื่องจาก บริษัทฯ เหล่านี้มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกับบริษัทในเครือของ PCC โดย average ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ตลาดให้ Forward P/E ที่ 15.8 เท่า เราจึงคาดว่า P/E เป้าหมายที่เหมาะสมอยู่ที่ค่าเฉลี่ยที่ 15.8 เท่า จากสมมติฐานหลักในปี 66 ภาครัฐกลับมาดำเนินกิจกรรมปกติ และแผนงานที่จะพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ จะช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทในปี 66 ที่ 4,692 ล้านบาท เติบโต 2.7% และ EPS อยู่ที่ 0.30 บาท เมื่อคำนวณกับระดับ P/E เป้าหมายที่ 15.8 เท่า เราจะได้ราคาเป้าหมายในปี 66 ของ PCC อยู่ที่ 4.76 บาท

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรสุทธิในปี 65-67 ของ PCC จะเติบโตขึ้น 38%, 38% และ 10% ตามลำดับ หรือมี CAGR ที่ 28% โดยกำไรที่เติบโตแข็งแกร่งในปี 2565 จะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากฐานที่ต่ำผลจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่รายได้และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) และสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A ที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้น จะช่วยผลักดันการเติบโตของกาไรในปี 2566-67 โดยคำนวณราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 4.70 บาท/หุ้น หรือสะท้อนเป้า market cap ที่ 5.8 พันลบ. ราคาเป้าหมายอิงจากการใช้ตัวคูณมูลค่าโดยอิงจากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ใช้เป้าหมาย PER ปี 2566 ที่ 15 เท่า ซึ่งสมเหตุสมผลหากพิจารณาจากมูลค่าหุ้นของคู่แข่งโดยตรงในปี 2566 และมูลค่าหุ้นของกลุ่มก่อสร้าง

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 65-66 ที่ 305 ล้านบาท และ 385 ล้านบาท ตามลำดับ หรือเติบโต 38% CAGR 64-66 โดยมี key driver หลักจากการฟื้นตัวของธุรกิจหลัก (PEM, PSP) ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบงานได้มากขึ้นและประมูลงานเพิ่มเติมได้หลังจากผ่านช่วง COVID-19 ซึ่งทำให้ผลประกอบการสะดุดลง หนุนรายได้รวมในปี 65-66 ที่ 4.6 พันล้านบาท และ 4.8 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% CAGR 64-66

ขณะที่ GPM ในปี 65-66 ประเมินที่ 26% (-1ppt จากปีก่อน) และ 27% (+1ppt จากปีก่อน) ตามลำดับ ยังคงได้รับผลกระทบจากงานมาร์จิ้นต่ำ ในปี 65 แต่จะทยอยฟื้นตัวโดยคาดการแข่งขันจะลดความรุนแรงลงจากปริมาณงานที่กลับเข้ามาในตลาดหลัง COVID-19 ผ่อนคลาย โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 4.70 บาท อิง PER 15x (Peers average +1SD ให้ premium PCC จากมาร์จิ้นที่ดีกว่า) ทั้งนี้ key catalyst คือ การประกาศแผน PDP ฉบับใหม่ของไทย ซึ่งจะทำให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนออกมามากขึ้นในอนาคต

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ประเมินรายได้รวมปี 65-68 เท่ากับ 4.7 พันล้านบาท (+28.8% จากปีก่อน), 5.1 พันล้านบาท (+9.0% จากปีก่อน), 5.4 พันล้านบาท (+6.3% จากปีก่อน) และ 5.8 พันล้านบาท (+7.6% จากปีก่อน) ตามลำดับ ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีแบบ CAGR ที่ 7.6% ขณะที่กำไรสุทธิคาดการณ์ 262 ล้านบาท (+29.2% จากปีก่อน), 361 ล้านบาท (+37.9% จากปีก่อน), 419 ล้านบาท (+16.2% จากปีก่อน) และ 469 ล้านบาท (+11.8% จากปีก่อน) ตามลำดับ ขยายตัวเฉลี่ย ต่อปีแบบ CAGR ที่ 21.4%

โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 66 เท่ากับ 4.77 บาท/หุ้น ด้วยวิธี SOTP (Sum of the part) โดยได้มูลค่าของบริษัทที่ไม่รวมธุรกิจ PPP จะอยู่ที่ 3.92 บาท/หุ้น อิง PE ที่ 14.85 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี ของกลุ่ม (QTC, AKR, GUNKUL และ AI) โดย Valuation ค่อนข้างน่าสนใจเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิค่อนข้างแข็งแกร่ง และล่าสุด PCC ชนะการประมูล ระบบส่งไฟฟ้างานจัดหาและจ้างก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kV ทุ่งสง – สงขลา 3 ของ EGAT มูลค่า 1.53 พันล้านบาท หนุนการเติบโตของผลประกอบการในปี 66 ส่วนธุรกิจ PPP ได้มูลค่า 0.85 บาท/หุ้น จากโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 3 โครงการ ตามสัดส่วนที่ PCC ถือหุ้น

Back to top button