BTG แจงแทน “ภัทร” ย้อนแย้งหลัก “กรีนชู” ตลท.ชี้ชัด “ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์” รับผลตอบแทน

BTG แจงแทน “ภัทร” ไม่มีเอี่ยวกำไรจาก “กรีนชู” ชี้มีสัญญาซ้อน! ดึงส่วนต่างเข้าบริษัท ย้อนแย้งข้อมูล ตลท.เขียนชัดเจนในบทความว่าหลัก Greenshoe Option เป็นทางเลือกสร้างค่าธรรมเนียม หรือสร้างผลตอบแทนให้กับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์


บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์จากกรณีตามที่ บริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ผ่านมาโดยได้มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 65,200,000 หุ้น โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (“ผู้จัดหาหุ้น ส่วนเกิน”) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาหุ้นสามัญของบริษัทฯ

เพื่อส่งมอบคืนให้แก่ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด (“ผู้ให้ยืมหุ้น”) ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันแรกที่หุ้นของบริษัทฯ เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ได้มีสื่อและสำนักข่าวบางแห่งได้เผยแพร่ข่าวสารที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดทั้งในหลักการ และในส่วนของผู้ได้รับประโยชน์ในเงินส่วนต่าง และจำนวนเงินส่วนต่างที่เกิดจากการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นของบริษัทฯ โดยระบุว่าผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากเงินส่วนต่างที่เกิดจากการซื้อหุ้นคืนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคา IPO ซึ่งเป็นไปตามกลไกการรักษาเสถียรภาพราคาหุ้นของบริษัทฯ นั้น

ทั้งนี้ บริษัทขอเรียนชี้แจงและให้ข้อเท็จจริงว่าเงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินผู้ให้ยืมหุ้น หรือผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ แต่อย่างใด โดยภายใต้ข้อตกลงในสัญญาที่เกี่ยวข้อง เงินส่วนต่างดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัท เพื่อประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้น ทั้งหมดของบริษัท หลัง IPO

นอกจากนั้น เงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้มีจำนวนมากดังที่สื่อและสำนักข่าวบางแห่งได้กล่าวถึงการจัดสรรหุ้นส่วนเกินและกระบวนการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นของบริษัท เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำ IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัท เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยมีลักษณะที่สอดคล้องกับธุรกรรม IPO ที่มีขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ จากบทความเชิงให้ความรู้ผู้ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุในบางช่วงบางตอนเกี่ยวกับ Greenshoe Option โดยกล่าวว่ากรีนชูเปรียบเหมือนธุรกรรมที่จะปรับจูนให้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายกับสิ่งที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ต้องการมาเจอกัน และตกลงกันได้ เพราะหากค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายเป็นค่าคงที่ แต่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการขายหุ้นได้ไม่หมดไว้ ขณะเดียวกันบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อาจมองว่าค่าธรรมเนียมสูงเกินไป อยากได้ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่านี้ การทำธุรกรรมก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น Greenshoe Option จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างค่าธรรมเนียมหรือสร้างผลตอบแทนให้กับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์

Back to top button