5 หุ้นค้าปลีกโดดเด่น
โบรกฯมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกสำหรับปี 2566 จากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภค แนะซื้อ CPALL, MAKRO, BJC, HMPRO และ GLOBAL
เส้นทางนักลงทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2566 เหลือ 3.2% จากเดิมอยู่ในกรอบ 3.2-4.2% แม้จะเพิ่มประมาณการจีดีพีในปีนี้เป็น 3.2% จาก 2.9% ก็ตาม
เนื่องจากประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มไม่เติบโต ผลพวงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรปด้วย
นอกจากนี้ มีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มากขึ้น เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุข จากที่จีนอาจจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ย มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าไปแตะระดับ 5% หรืออาจสูงกว่านั้น ก่อนที่จะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงตลอดทั้งปี 2566
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นเช่นเดียวกัน
ด้านแนวโน้มเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้ามีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากตลาดรับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว
ภาคส่งออกไทยในปี 2566 คาดว่า ณ สิ้นปีจะติดลบ 1.5% ส่วนภาคการเงิน ภาพรวมแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยจะเติบโตในกรอบจำกัด ราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 5% ตามผลของเศรษฐกิจที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจมีการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
ทิศทางที่ระมัดระวังดังกล่าว สะท้อนผ่านมุมมองต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวม จะยังไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2565 โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เทียบกับ 2.65-2.75% ที่คาด ณ สิ้นปี 2565
สำหรับแนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 มองว่ายังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า โดยฝั่งต้นทุนจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ขณะที่ฝั่งรายได้จะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และเงินบาทแข็งค่าจนฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทย
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปี 2566 ยังมีลักษณะเป็น K-Shaped โดยธุรกิจที่นำการฟื้นตัวจะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค้าปลีก ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า หรือหดตัว ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ที่มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกสำหรับปี 2566 จากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภค รับแรงหนุนจากการเลือกตั้ง การเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นแนวโน้มการบริโภคในประเทศยังคงเป็นขาขึ้นในปี 2566
แม้จะมีมุมมองต่อการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth : SSSG) ของกลุ่มค้าปลีกจะชะลอตัวลงหลังจากฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 นี้ แต่ยังคงเป็นบวกที่ระดับ 1-5% นอกจากนั้นยอดขายยังถูกขับเคลื่อนจากการเปิดสาขาใหม่และการเติบโตของการขายผ่านทางออนไลน์ด้วย
โดยคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) ของบริษัทในกลุ่มค้าปลีกส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 ตามการเติบโตของยอดขายการเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงและสินค้า House brand
ประกอบกับความกดดันด้านต้นทุนคาดว่าจะผ่อนคลายลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบบางประเภทเริ่มปรับตัวลดลง นอกจากนั้นยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดมากขึ้น
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรกลุ่มค้าปลีกทุกบริษัทจะเติบโตในเกณฑ์ดีในปี 2566 เป็นผลมาจากการเติบโตของสาขาเดิม การเปิดสาขาใหม่ และอัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ 5 หุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่มีความโดดเด่น และมีคำแนะนำ “ซื้อ” ประกอบด้วย บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL)
CPALL ถูกยกให้เป็นหุ้น Top pick อันดับ 1 ของกลุ่มค้าปลีก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำ “ซื้อ” ประเมินว่ากำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวรอบใหม่จึงได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ CPALL ขึ้น
โดยบล.ดาโอ ปรับขึ้น 4% เป็น 1.94 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% จากปีก่อนหน้า ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด คาดว่าสาขาในพื้นที่ท่องเที่ยวจะมียอดขายโดดเด่น ทำให้สิ้นปี 2566 อัตรากำไรขั้นต้นของ CPALL จะเพิ่มขึ้นมาที่ 21.6%
สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นค้าปลีก สนใจตัวไหนก็เลือกช้อปได้นะตัวเอง!!!