บางจาก ‘เงินสด’ ล้นกระเป๋า

BCP ประกาศผลักดัน EBITDA ในปี พ.ศ. 2573 เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท (ปี 2558-2563)


เส้นทางนักลงทุน

หลังจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศผลักดัน EBITDA ในปี พ.ศ. 2573 เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท (ปี 2558-2563) ก็เกิดข่าวลือสะพัดข้ามปีว่า BCP จะปีดดีลใหญ่ซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO จากผู้ถือหุ้นเดิม

ข่าวที่หึ่งออกมาบอกว่าเบื้องต้นราคาซื้อขายจะอยู่ที่ 12-14 บาทต่อหุ้น ซึ่ง BCP จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ภายในเดือนมกราคม 2566 นี้

เรื่องนี้แม้ BCP จะไม่ตอบรับชัดเจน แต่ก็ไม่ปฏิเสธ โดยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา BCP ได้แจกแจงข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อประเด็นที่ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO นั้น คณะกรรมการบริษัทมีการพิจารณาการลงทุนอยู่เสมอ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปรวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขการลงทุนใด ๆ

การตัดสินใจต่าง ๆ ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด หากมีข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะเปิดเผยข้อมูลอีกครั้ง

“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้เคยเปิดแผนงานและยุทธศาสตร์การเติบโตระยะยาวจนถึงปี 2573 ของ BCP ไปแล้วเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ในวันนี้จึงจะพามาทำความรู้จัก BCP ให้มากขึ้น ถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน

โดย ณ สถานะปัจจุบัน BCP เป็นบริษัทหนึ่งที่มีเงินเยอะ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดมากถึง 33,288 ล้านบาท (ณ 30 กันยายน 2565) และมีสินทรัพย์รวม 227,863 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 26,078 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ 31 ธันวาคม 2564

กลุ่มบริษัทบางจากมีหนี้สินรวม 144,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,209 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้การค้าและหนี้สินตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น เจ้าหนี้การค้าปรับเพิ่มขึ้นจากน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาและปริมาณการซื้อเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 83,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,868 ล้านบาท

งวด 9 เดือนแรกของปี 2565 BCP มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 227,619 ล้านบาท เติบโตดีมากถึง 72% จากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่มี EBITDA 37,773 ล้านบาท กระโดด 128% จาก ณ เวลาเดียวกันปี 2564 โดยมีกําไรสําหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 12,103 ล้านบาท โตแรง 106% คิดเป็นกําไรต่อหุ้น 8.64 บาท

ในแต่ละกลุ่มธุรกิจของ BCP นั้น มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดจนสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นที่ระดับ “A” จากเดิม “A-”

ซึ่งรวมถึงเครดิตของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ ก็ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น “A” (จากเดิม A-) และ “A-” (จากเดิม BBB+) ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตของทุกบริษัทยังคงเป็น Stable

ธุรกิจที่ฟื้นตัวดี เช่น กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางฟื้นตัวขึ้น

ขณะที่อุปทานน้ำมันยังมีความตึงตัวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ 9 เดือนแรกปี 2565 โรงกลั่นของ BCP ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่สูงในระดับ 122.6 พันบาร์เรลต่อวัน

ส่วนกลุ่มธุรกิจตลาด ได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณการจำหน่ายปรับเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการสะท้อนต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น รวมทั้งปริมาณและค่าการตลาดของตลาดอุตสาหกรรมก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มีการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 3 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 65 เมกะวัตต์

BCP มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม-กันยายน 2565 อยู่ที่ 16.2% (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) มีจำนวนสถานีบริการทั้งสิ้น 1,320 สถานี นอกจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจ Non-Oil โดยมีร้านกาแฟ Inthanin และร้านชานมไข่มุก Dakasi ในสถานีบริการน้ำมัน

ตลอดจนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรด้านธุรกิจร้านอาหารชั้นนำ และร้านอาหารสตรีตฟู้ด และขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Chargers) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

จากตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนว่าบางจากมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดล้นกระเป๋า เมื่อบวกเข้ากับเป้าหมายการผลักดันให้ EBITDA เติบโตถึง 10 เท่า ในปี พ.ศ. 2573 แล้ว ก็คงต้องมาจากการเติบโตจากภายใน คือ ฐานธุรกิจเดิม หรือการเพิ่มธุรกิจใหม่ และการซื้อกิจการนั่นเอง

Back to top button