
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ
ผลพวงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ ที่คิดจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าฝ่ายเดียวเล่นงานจีนและพันธมิตรที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้า
ผลพวงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ ที่คิดจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าฝ่ายเดียวเล่นงานจีนและพันธมิตรที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้า เริ่มลุกลามบานปลายไปสู่การลงทุนของสหรัฐฯ เอง เพราะนอกเหนือจากการเจรจาที่สหรัฐฯ ต้องชั่งน้ำหนักให้กับชาติต่าง ๆ ที่รับผลร้ายจากมาตรการการค้าของสหรัฐ ฯ ที่ขึ้นภาษีนำเข้ากับชาติต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วยที่มีความซับซ้อนถึงขั้นที่ตัวแทนเจรจาสหรัฐฯ ต้องออกมาบอกว่านโยบายของทรัมป์ มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ต้องผ่อนปรนเป็นเรื่อง ๆ ไป
แต่เรื่องราวของทรัมป์ยังไม่จบลงเพียงแค่นี้ เพราะล่าสุดมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้ ทำให้ชาติอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรของตัวเองเช่นปานามาได้ถูกบริษัทจีนระงับข้อตกลง CK Hutchison ที่จะขายบริษัทคืนให้กับสหรัฐฯ ไปด้วย
คลองปานามากลายเป็นสมรภูมิใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
สงครามอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจเหนือเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญของโลกกำลังทวีความเข้มข้น เมื่อทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาต่างเพิ่มแรงกดดันเกี่ยวกับคลองปานามา ส่งผลให้ดีลยักษ์มูลค่า 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์ในการขายท่าเรือของมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง หลี่ กาชิง อยู่ในสถานะไม่แน่นอน
ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า จะเข้มงวดในการตรวจสอบแผนการขายท่าเรือหลายสิบแห่งของ CK Hutchison Holdings Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทของหลี่ กาชิง ให้กับกลุ่มทุนที่มี BlackRock Inc. เป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยย้ำว่าการตรวจสอบจะครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และดีลดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงาน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ธุรกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของ CK Hutchison ที่อยู่นอกประเทศจีนและฮ่องกงเท่านั้น แต่คำแถลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของปักกิ่งในการแสดงอำนาจควบคุมเหนือธุรกิจที่มีฐานอยู่ในภูมิภาคจีนตอนใต้ รวมถึงฮ่องกง ในขณะเดียวกัน ด้านสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เริ่มผลักดันนโยบาย “ยึดคืน” คลองปานามาไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่งในปีนี้ และล่าสุดได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้เรือสหรัฐฯ สามารถ “ผ่านคลองปานามาและคลองสุเอซได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย”
“คลองเหล่านั้นคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากปราศจากสหรัฐอเมริกา” ทรัมป์โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันเสาร์ พร้อมระบุว่าได้สั่งการให้มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ “จัดการสถานการณ์นี้โดยทันที”
สหรัฐฯ และจีนกำลังอยู่ในสภาวะสงครามคำพูดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลประมาณ 3% ของทั้งโลก โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ใช้หลักของคลองแห่งนี้
สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้กับหลี่ กาชิง ในขณะที่เขาพยายามจะขายท่าเรือทั้งสองแห่งในปานามา ทำให้เขาตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจ
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสองฝ่ายสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนและท้าทายมากขึ้นสำหรับ CK Hutchison และบริษัทระดับโลกอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง
ด้านจีนได้ส่งสัญญาณไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อความเคลื่อนไหวของหลี่ กาชิง โดยบลูมเบิร์กรายงานเมื่อเดือนมีนาคมว่า จีนได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจชะลอความร่วมมือใหม่ ๆ กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมหาเศรษฐีวัย 96 ปีรายนี้และครอบครัว เนื่องจากไม่พอใจกับแผนการขายท่าเรือให้กับกลุ่มทุนระดับโลก
หนังสือพิมพ์ Ta Kung Pao ซึ่งเป็นสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์คอลัมน์ความเห็นโดยระบุว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศและ “หยุดธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทันที” มิฉะนั้น “ผลที่ตามมาจะร้ายแรงมาก” ดีลใหญ่นี้ได้รับการประกาศครั้งแรกในเดือนมีนาคม เกี่ยวข้องกับท่าเรือที่ดำเนินการโดย CK Hutchison จำนวน 43 แห่งใน 23 ประเทศทั่วโลก แม้ว่าการเจรจาและขั้นตอนการตรวจสอบต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งการตรวจสอบสถานะทางการเงิน (due diligence) การตรวจสอบบัญชีและภาษี แต่ CK Hutchison ได้พลาดเป้าหมายในการลงนามข้อตกลงขั้นสุดท้ายในส่วนของปานามาที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 2 เมษายนไปแล้ว ทั้งนี้ หากดีลดังกล่าวสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด CK Hutchison จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินสดถึง 19,000 ล้านดอลลาร์
วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานในเดือนนี้ว่า มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการแยกท่าเรือทั้งสองแห่งในปานามาออกจากข้อตกลงมูลค่า 22,800 ล้านดอลลาร์ในการซื้อท่าเรือทั้งหมดจาก CK Hutchison อย่างไรก็ตาม Ta Kung Pao ชี้ว่านี่เป็นเพียง “การจัดการภาพลักษณ์” เท่านั้น โดยระบุว่า “ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่ออย่างไร แก่นแท้ของธุรกรรมนี้ยังคงเป็นผลประโยชน์โดยตรงของกลุ่มทุน BlackRock ของอเมริกาเสมอมา”
เรื่องชุลมุนนี้จะบานปลายแค่ไหน อย่างไร ไม่ทราบได้ แต่อาจจะทำให้เกิดสงครามจริงขึ้นได้หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว
วิษณุ โชลิตกุล