
พาราสาวะถี
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ปมการบังคับโทษจำคุกของ ทักษิณ ชินวัตร
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ปมการบังคับโทษจำคุกของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ไปรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยคำสั่งศาล ให้โจทก์และจำเลย รวมทั้งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลว่า การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลหรือไม่ อย่างไร โดยให้แสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน
นั่นจึงนำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายคือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากบรรดากองแช่ง พวกขาประจำ ตีอกชกตัวชี้ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ มากไปกว่านั้น ย่อมหนีไม่พ้นที่จะนำไปขยายผล เพราะตามกำหนดการนั้น วันพรุ่งนี้ (8 พฤษภาคม) คณะกรรมการแพทยสภาจะมีการประชุมชี้ชะตาปมการตรวจสอบจริยธรรมของ 7 บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจที่ทำการดูแล รักษานายใหญ่ในห้วงเวลาดังกล่าว
ข่าวที่ถูกเปิดมาทั้งจากคุณแหล่งข่าว และผู้ที่เปิดเผยตัวตน เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มติของแพทยสภาจะออกมาด้วยการสั่งพักงาน 2 แพทย์ และอีก 5 บุคลากรก็จะถูกลงโทษสถานหนักเช่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าเป็นการกดดัน ดักคอเพื่อหวังผลให้เป็นไปในแนวทางที่พรรคพวกของตัวเองต้องการหรือไม่ ตามกระบวนการคือต้องมีการลงมติจากที่ประชุม ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 72 คน และเป็นสัดส่วนของแพทย์ในมหาวิทยาลัย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์
หมายความว่า คงไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่า มติจะออกมาอย่างไร ยิ่งพูดถึงการล็อบบี้เพื่อหวังผลทางหนึ่งทางใดแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยาก อย่างหนึ่งตามขั้นตอนที่มองข้ามไม่ได้คือ หลังจากที่ประชุมแพทยสภามีมติแล้ว ต้องส่งเรื่องให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบ หากรับรองมติถือว่าทุกอย่างจบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยต้องกลับเข้าที่ประชุมแพทยสภาเพื่อยืนยัน โดยใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 48 เสียง หากที่ประชุมเห็นแย้งแต่ตรงกับความเห็นของรัฐมนตรีสาธารณสุข ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 24 เสียง
มติของที่ประชุมยังไม่น่าสนใจเท่ากับเรื่องที่ว่า จะมีการประชุมกันในวันดังกล่าวหรือไม่ เพราะมีการเลื่อนการประชุมในกรณีนี้มาก่อนหน้า โดยทางแพทยสภาได้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารแพทยสภา เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า เนื่องจากต้องรอบทสรุปซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะถึงวันที่ 10 เมษายน 2568 ทางคณะอนุกรรมการสอบสวนของแพทยสภาได้รายงานต่อคณะกรรมการบริหารแพทยสภาว่า ได้รับเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 หน่วยงาน
นั่นก็คือ เอกสารจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งส่งเอกสารมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 และแพทยสภาได้รับเอกสารดังกล่าวในวันที่ 31 มีนาคม 2568 เอกสารจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งส่งเอกสารมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 และแพทยสภาได้รับเอกสารดังกล่าวในวันที่ 1 เมษายน 2568 เอกสารจากทั้ง 2 หน่วยงานมีจำนวนมาก ทำให้กระบวนการพิจารณาจากข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าวต้องใช้เวลามากขึ้น จึงไม่สามารถสรุปผลการตัดสินได้ทันวันที่ 10 เมษายน 2568 ต้องเลื่อนการพิจารณาไปประชุมรอบถัดไปคือ 8 พฤษภาคม 2568
ในการเลื่อนหนก่อนทางแพทยสภาก็ถูกพวกขาประจำเรียกร้องในเชิงกดดัน ไม่ให้เลื่อน ด้วยการป่าวประกาศว่าจะทำให้เสียชื่อ หนนี้ข่าวที่ออกมาก่อนจะถึงการประชุมแพทยสภาจึงเป็นสิ่งที่ต้องชั่งตวงวัดกันให้ดีว่ามีน้ำหนักมากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ หากพิจารณาจากเอกสารที่ทางอนุกรรมการฯ ได้ขอไปยังนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจนั้น น่าจะเห็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อนำไปสู่มติชี้ประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
มีการขอพยานหลักฐานหรือวัตถุพยาน ประกอบไปด้วย คำชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลของทักษิณทั้งหมดโดยละเอียด ขอทราบ ชื่อ สกุลแพทย์ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทักษิณ รวมถึงเลขใบประกอบวิชาชีพ รวมทั้งคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาทักษิณ เกี่ยวกับกระบวนการตรวจ การวินิจฉัย การดูแลรักษาในรายทักษิณโดยละเอียด เหตุผลที่ขอเช่นนั้น เพราะทักษิณเป็นผู้ต้องขังที่ส่งตัวไปรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน และ 60 วัน และ 120 วัน
ในตอนท้ายของหนังสือจากอนุกรรมการฯ ได้ระบุด้วยว่า ขอความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตอนที่แพทย์ทำรายงาน 3 ครั้งคือ ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในช่วงครบ 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน โดยให้ส่งรวมมาให้อนุกรรมการฯ ทั้งหมด ดังนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเอกสาร หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ผลที่ออกมาจึงน่าจะทำให้ทุกฝ่ายสิ้นสงสัยได้
ขณะที่พวกขาประจำ ฝ่ายแค้น พากันแท็กทีมโหมประโคมบนความหวังว่า มติของแพทยสภาที่ออกมาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซีกพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยยังคงเชื่อมั่นว่าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ โดย แพทองธาร ชินวัตร พูดในเชิงหลักการ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการ เรามั่นใจอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าจะอยู่ในจุดที่สงสัยต่อเนื่องก็สงสัยได้ต่อเนื่อง ถามว่าหากตนออกมาพูดถึงความชัดเจนก็ไม่มีใครเชื่ออยู่ดี เพราะคนไม่เชื่อก็เลือกที่จะไม่เชื่อ แล้วคิดว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมก็คิดได้อย่างนั้น
เป็นการให้ความเห็นในท่วงทำนองเดียวกันกับใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกกดดันจากปัญหาสารพัด ทั้งเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน สงครามการค้าที่รอวันปะทุจากนโยบายภาษีบ้าระห่ำของสหรัฐอเมริกา ปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลที่ไม่ว่ามองมุมไหนยังไม่มีจุดแตกหัก บวกกับโจทย์ที่ว่า ล้มรัฐบาลนี้แล้วใครจะมาบริหารบ้านเมืองต่อ ที่พูดกันไปถึงรัฐประหารก็ต้องถามดัง ๆ ว่า 10 กว่าปีภายใต้อุ้งตีนเผด็จการ คสช.นั้น ยังไม่พออีกหรือกับหายนะที่เผชิญ การมองเห็นเงื่อนไขว่าประเทศต้องเดินไปทิศทางใด มันจึงเป็นปัจจัยทำให้ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันยังเชื่อว่าสามารถเดินต่อไปได้
อรชุน