
GPSC กำไร Q1 โต 32% ทะลุพันล้าน รับรู้เงินปันผล-ส่วนแบ่งโรงไฟฟ้าพุ่ง
GPSC รายงานกำไรไตรมาส 1/68 เติบโต 32% แตะ 1.14 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 864.02 ล้านบาท หลังรับรู้เงินปันผล และส่วนแบ่งจากการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2568 พบว่ากำไรสุทธิ ดังนี้
โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 1,140.04 เพิ่มขึ้น 31.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 864.02 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าจำนวน 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 1/67 อยู่ที่ 16 ล้านบาท) สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า XPCL มีผลประกอบการดีขึ้น จากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากปรากฏการ์ ลานีญา และ AEPL มีผลประกอบการดีขึ้นตามปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามค่าความเข้มแสงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ CFXD มีผลประกอบการลดลงจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยหลังจากการดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มจำนวนในเดือนม.ค. 68 โดยขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีกำลังการผลิตที่ดีขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จาก 30 ต้น จากในไตรมาสที่ 1/67 เป็นจำนวน 62 ต้นในไตรมาสที่ 1/68
อย่างไรก็ตาม กังหันลมบางส่วนจำนวน 28 ต้นเดินเครื่องไม่เต็มประสิทธิภาพและอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงที่อยู่ใต้การรับประกันผลงานจากผู้รับเหมา TSR มีผลประกอบการลดลง 44 ล้านบาท จาก 64 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/67 เป็น 20 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1/68 สาเหตุราคาขายไฟฟ้าปรับลดลง เนื่องจาก Adder หมดอายุทั้งหมด ในเดือน มิ.ย.67 ส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ อยู่ที่ 67 ล้านบาท ลดลง 73 ล้านบาท หรือ 52% สาเหตุหลักเนื่องจากรายการปรับปรุงภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1/68
ขณะที่ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อยู่ที่ 2,324 ล้านบาท ลดลง 71 ล้านบาท หรือ 3% สาเหตุหลักมาจากค่าตัดจำหน่ายมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิที่ได้จากการเข้าซื้อ GLOW ลดลงตามอายุสัญญา ส่วนต้นทุนทางการเงิน อยู่ที่ 1,380 ล้านบาท ลดลง 41 ล้านบาท หรือ 3% ตามเงินกู้ยืมของกลุ่มกิจการที่ลดลงจากการจ่ายชำระคืนเงินกู้ตามแผน
ทั้งนี้ กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 5,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26 ล้านบาท หรือ 1% สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้น 221 ล้านบาท จากต้นทุนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลดลง ประกอบกับความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทำให้กำไรผันแปร (Margin) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผลการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลง 167 ล้านบาท สาเหตุหลักจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ได้รับค่าเชื้อเพลิงส่วนต่างลดลง (Energy Margin) ลดลง เนื่องจากในไตรมาสที่ 1/68 รายได้ค่า ถ่านหินที่สามารถเรียกเก็บจาก กฟผ. ต่ำกว่าต้นทุนถ่านหินของบริษัทฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/67
นอกจากนี้ บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิจำนวน 57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 1/67 กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 3 ล้านบาท) จากค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้เกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการบันทึกปรับมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าทางการเงินของ โรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าโกลว์ไอพีพี