WTI บวก 4% รอบสัปดาห์ รับ “สหรัฐ-อังกฤษ” ปิดดีลการค้า หนุนความเชื่อมั่น

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดบวกสัปดาห์แรกในรอบเดือน รับแรงหนุนความคืบหน้าเจรจาการค้าสหรัฐ-สหราชอาณาจักร ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2% ในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนก่อนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนจะพบหารือกันในช่วงสุดสัปดาห์นี้

โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 1.11 ดอลลาร์ หรือ 1.85% ปิดที่ 61.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ส่งมอบเดือนกรกฎาคมปรับขึ้น 1.07 ดอลลาร์ หรือ 1.70% ปิดที่ 63.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยทั้งสองสัญญาปรับขึ้นกว่า 4% ในรอบสัปดาห์ ถือเป็นการปรับตัวบวกครั้งแรกตั้งแต่กลางเดือนเมษายน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความเห็นต่อการค้ากับจีนว่า อัตราภาษีนำเข้า 80% ของสินค้าจีนเป็นเรื่อง “สมเหตุสมผล” หลังจากที่เพิ่งประกาศข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรเพื่อยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์และเหล็กกล้า ความเห็นของทรัมป์ได้จุดประกายความหวังว่าสหรัฐฯ อาจบรรลุข้อตกลงการค้าที่คล้ายคลึงกับจีน โดยมีกำหนดให้ นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พบกับรองนายกรัฐมนตรี เหอ หลี่เฟิง ของจีน ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม

ขณะที่ปัจจุบันสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่ข้อมูลจากศุลกากรจีนระบุว่า ยอดส่งออกของจีนในเดือนเมษายนขยายตัวเร็วกว่าคาด และการนำเข้าหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีเสถียรภาพก่อนการเจรจา

นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยผลักดันราคาน้ำมัน โดยกองทัพอิสราเอลได้ยิงสกัดขีปนาวุธจากเยเมน ซึ่งกลุ่มฮูตีออกมาแสดงความรับผิดชอบ เหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังโอมานเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาหยุดยิงระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มฮูตี ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่ประกาศคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันอิสระของจีนแห่งที่ 3 เนื่องจากซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ก็กระตุ้นความกังวลด้านอุปทานอีกครั้งก่อนการเจรจานิวเคลียร์รอบใหม่ที่โอมาน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายยังคงมองว่าทิศทางราคาน้ำมันยังไม่แน่นอน เนื่องจากยังต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและรัสเซีย รวมถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกพลัสในด้านการผลิตน้ำมัน แม้ผลสำรวจล่าสุดโดยสำนักข่าวรอยเตอร์จะชี้ว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกลดลงในเดือนเมษายนจากการหยุดชะงักในลิเบีย เวเนซุเอลา และอิรักก็ตาม

Back to top button