นายกมั่นใจเกมทูต “ทีมไทยแลนด์” “วอชิงตัน” ส่งซิกตอบรับเป็นบวก

โฆษกรัฐบาลเผย ก่อน “แพทองธาร” เยือนเวียดนาม 15-16 พ.ค. นายกสั่ง “ทีมไทยแลนด์” เร่งพิจารณาข้อมูล พร้อมติดตามสาระสำคัญ หลัง รมว.คลังสหรัฐ ชื่นชมข้อเสนอไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค.68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อเข้าร่วมประชุม JCR ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4

นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ “ทีมไทยแลนด์” ให้ติดตามประเด็นสำคัญจากเวที Saudi-U.S. Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 โดยเฉพาะคำกล่าวของนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งชื่นชมประเทศไทยว่า มีข้อเสนอที่ดี ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก ที่ตอกย้ำยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุกของทีมเศรษฐกิจไทย ซึ่งมุ่งเน้นการเจรจาอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และเลือกใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสม

“นับเป็นสัญญาณบวกของประเทศไทย จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของ ทีมไทยแลนด์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เน้นการเจรจาอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ ควบคู่กับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัย มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายจิรายุ ยังได้ย้ำถึง 5 ข้อเสนอไทยที่ยื่นต่อสหรัฐอเมริกา เพื่อขอเจรจาทางการค้า ดังนี้

  1. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ Win-Win
  2. การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้าปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการ และบริหารโควต้าให้เหมาะสม โดยต้องไม่กระทบภาคการผลิตในประเทศ
  3. การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า มุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวกับภาษี (Non-Tariff Barriers) พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม
  4. การคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด พร้อมมาตรการป้องกันไม่ให้ประเทศที่สามใช้ไทยเป็นฐานหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐ
  5. การปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ พร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในสหรัฐ มากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ตั้งแต่ต้นปี 2568 เพื่อวางรากฐานการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายจิรายุ ระบุเพิ่มเติมว่า การเลือกจังหวะที่เหมาะสม พร้อมข้อเสนอที่ชัดเจน จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างยั่งยืนและมั่นคง และยกระดับการส่งออกของไทยทุกประเภทในระยะยาว

Back to top button