“จุลพันธ์” ยันดิจิทัลวอลเล็ตไม่ล่ม เดินหน้าฉีดงบ 1.57 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจไตรมาส 3-4

“จุลพันธ์” แจง ครม. เคาะกรอบใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท เดินหน้าคัดกรอง “โครงการใหญ่” ที่มีความพร้อมและส่งผลต่อชุมชนจริง ย้ำชัดรัฐบาลยังไม่ล้มแผนแจก “เงินหมื่น” แต่ขอรอจังหวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 พ.ค.68) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมุ่งเป้าอนุมัติเฉพาะโครงการที่มีความพร้อม สามารถเดินหน้าได้ทันที และส่งผลเชิงโครงสร้างกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการหมุนเวียนเงินในระดับชุมชน

นายจุลพันธ์กล่าวว่า คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะพิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2568 โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอคำขอรับงบภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ ทั้งนี้ โครงการที่เข้ารับการพิจารณาต้องมีความพร้อมสูง และส่งผลในระดับโครงสร้าง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสงครามการค้าและมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ รัฐบาลวางกรอบให้ทุกโครงการต้องสามารถทำสัญญาผูกพันงบประมาณได้ภายในไตรมาส 3 หรือไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.68 แม้จะยังไม่จำเป็นต้องเบิกจ่ายครบทั้งหมดภายในระยะเวลาดังกล่าว แต่ต้องมีความชัดเจนในการดำเนินการ และอยู่ภายใต้การติดตามจากคณะกรรมการอย่างใกล้ชิด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังย้ำว่า โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่ถูกยกเลิก แต่เลื่อนออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะที่เหมาะสม โดยรัฐบาลจะประเมินแนวโน้มเป็นรายไตรมาส ควบคู่กับความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

“จากการประเมินที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยกว่า 3% ต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ซึ่งถือว่าไม่เกิดขึ้นมานาน ไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะยังทรงตัว แต่ไตรมาส 3 และ 4 อาจเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น เราจึงต้องวางแผนฉีดเงินช่วงไตรมาส 3 และผูกพันงบให้ทันภายใน 30 กันยายน ซึ่งถือเป็นกรอบเวลาสำคัญ โครงการที่จะเข้ามาจะต้องทำให้เกิดเม็ดเงินไหลลงชุมชน และมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจจริง ๆ มีเงื่อนไขชัดเจนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ และช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นมรสุมช่วงนี้ได้” นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ งบประมาณที่รัฐบาลมีแผนจะกู้เพิ่มเติมในวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด ณ ขณะนี้ โดยแม้จะได้รับการอนุมัติ ก็ไม่สามารถนำเงินเข้าสู่ระบบได้พร้อมกันทั้งหมด รัฐบาลจึงเลือกใช้กรอบ 157,000 ล้านบาทก่อนในระยะแรก เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจำเป็นจะพิจารณาเพิ่มเติมจากงบประมาณปี 2569

สำหรับ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่มีกระแสข่าวว่าประชาชนบางส่วนลบแอปฯ ออกไปหลังรัฐบาลชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์ กล่าว ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าการให้สวัสดิการของรัฐบาลก็จะผ่านช่องทางนี้ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ  เช่น บัตรสวัสดิการในอนาคต รวมถึงมาตรการท่องเที่ยว ซึ่งจะใช้แอป “ทางรัฐ” เป็นช่องทางหลักในการให้บริการประชาชน

Back to top button