เปิดโผ 28 บจ. SET โชว์งบ Q1/68 “เทิร์นอะราวด์” BTG โกยกำไร 1.9 พันล้านบาท

เปิดโผ 28 บจ. SET โชว์งบไตรมาส 1/68 “เทิร์นอะราวด์” หลังโกยรายทะลัก พ่วงบริหารต้นทุนดีเยี่ยม BTG, TRUE, AAV, STA, SNC และ NWR นำทีมพลิกกำไรโดดเด่น พร้อมจับตาผลงานทั้งปีโตกระหึ่ม


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้มีการสำรวจผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประจำไตรมาส 1/68 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2568) สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หรือ เทิร์นอะราวด์” ได้อย่างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ

ทั้งนี้ผลจากการสำรวจพบว่ามีจำนวน 28 หลักทรัพย์เทิร์นอะราวด์ ได้แก่ BTG, TRUE, AAV , STA, SNC, NWR, GLOCON, TIPCO, S11, CKP, MGC, TK, PAP, CPI, PK, ETC, TTI, BWG, SDC, CSS, MONO, MODERN, MICRO, EASTW, ML, CPH, PRG, SCI ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทมีรายเพิ่มขึ้น และมีการบริหารจัดการต้นทุนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม โดยจะนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างบริษัทที่พลิกมีกำไรโดดเด่นเพื่อประกอบเป็นข้อมูลลงทุนดังนี้

บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 พลิกมีกำไรสุทธิ 1,897.82ล้านบาท จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 124.07 ล้านบาท

ด้านนายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BTG เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจเบทาโกรในไตรมาสแรกปี 2568 เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและโปรตีนที่มีทิศทางสดใส อันเป็นผลจากการขับเคลื่อนกลยุทธ์หลักขององค์กร ด้วยการเจาะตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ การปรับพอร์ตสินค้าไปสู่ผลิตภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน และการจำหน่ายในช่องทาง Food Service และส่งออก ตลอดจนการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงปัจจัยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหมูและไก่ในประเทศ และความต้องการบริโภคหมูและไก่ที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 30,499.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จาก 27,215.4 ล้านบาท ช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ระดับ 5,362.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.5% จาก 2,921.8 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17.7% เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 3,766.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.4% จาก 1,486.6 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ระดับ 1,897.8 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิที่ระดับ 124.1 ล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับในปี 2568 เบทาโกรยังคงมุ่งเน้นขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 1) การขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ (International expansion) ผ่านการควบรวมกิจการ และการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง 2) การปรับพอร์ตสินค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (Product and Channel Mix Optimization) มุ่งเน้นบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Cost Transformation) ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการออกแบบกระบวนการใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพและผลิตภาพ

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2568 เบทาโกรยังเริ่มรับรู้รายได้เป็นครั้งแรกจากบริษัท เบทาโกร ฟู้ดส์ (สิงคโปร์) จำกัด ในการเข้าซื้อกิจการ Eggriculture ซึ่งเป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ในสิงคโปร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ที่ระดับ 27.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือราว 688.8 ล้านบาท) ซึ่งยืนยันถึงความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์หลักที่ตั้งเป้าขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และยังคงมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชียที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารในระดับภูมิภาค

แม้จะมีปัจจัยท้าทายธุรกิจโดยเฉพาะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เรายังเห็นโอกาสเติบโตจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของราคาหมูและไก่ในประเทศ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลือง และมันเส้น มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกแก่ธุรกิจในระยะข้างหน้า ประกอบกับอุปสงค์ในตลาดส่งออกหลักในยุโรป และเอเชียที่ยังคงแข็งแกร่ง และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ที่ 3-7%” นายวสิษฐ กล่าว

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 พลิกมีกำไรสุทธิ 1,633.88 ล้านบาท จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 769.25 ล้านบาท

ด้านนายซิกเว่ เบรกเก้ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม TRUE เปิดเผยว่า การผนวกรวมทรูและดีแทคเข้าด้วยกันถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการรวมสองผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเข้าเป็นหนึ่งเดียว  ภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน การรักษาวินัยทางการเงิน และการสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergy)

โดยเราได้ปรับปรุงเครือข่ายของเราให้ทันสมัย ผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเสริมประสบการณ์ในทุกช่องทางการให้บริการลูกค้า และที่สำคัญเราได้สร้างทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเป้าหมายร่วมกัน ที่พร้อมขับเคลื่อนการทำงานให้เร็วขึ้นและสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่ง  ผมรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากในความทุ่มเทและความมุ่งมั่นของทีมงานตลอดเส้นทางที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจสร้างผลกำไรได้ในไตรมาสที่ 1/2568

ปัจจุบัน ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความพร้อมทั้งด้านการดำเนินงาน และสถานะการเงินเพื่อรองรับการเติบโตในระยะต่อไป เป้าหมายของเราคือการพัฒนาองค์กรจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ (Telecom-tech company) ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในทุกภาคส่วนของสังคม เรามุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรม และสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ความก้าวหน้าที่เราได้บรรลุจนถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบุคลากรของเรา และเป็นรากฐานที่สำคัญในการก้าวต่อไปด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2568 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 638,000 เลขหมาย หรือ 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 48.8 ล้านเลขหมาย โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 4.4% ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพในช่วงปี 2567 ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 15.3 ล้านเลขหมาย ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินลดลง 2.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีจำนวน 33.5 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล สำหรับผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.8 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 ผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้นเป็น 14.2 ล้านเลขหมาย

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) TRUE กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยเป็นครั้งแรกที่รายงานกำไรสุทธินับตั้งแต่การควบรวมกิจการ บริษัทฯ สามารถสร้างกำไรสุทธิหลังหักภาษี 1.6 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่บริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทยังคงรักษาแนวโน้มการทำกำไรไว้ได้อย่างต่อเนื่อง  โดย EBITDA ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสนี้ แม้จะมีความท้าทายจากรายได้รวมที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยตามฤดูกาล

โดยในไตรมาสแรก รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากค่าบริการเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC ) ปรับตัวดีขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของของรายได้ในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ ในขณะที่รายได้ของกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกลดลง

ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการในไตรมาส 1/2568 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยตามฤดูกาลและรายได้จากการโรมมิ่งภายในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมผลกระทบดังกล่าว รายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และไตรมาสก่อน ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานรายได้รวมเติบโต 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน การปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เทียบกับไตรมาส 1/2567 ได้รับผลกระทบบางส่วนจากรายได้ค่าเช่าเครือข่ายที่ลดลงอันเป็นผลจากการโอนย้ายผู้ใช้บริการออกจากคลื่น 850 MHz ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในเดือนสิงหาคม 2568

สำหรับไตรมาส 1/2568 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต้นทุนเครือข่ายลดลง 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการจัดซื้อจัดจ้าง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ลดลง 16.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนจากการปรับโครงสร้างองค์กรให้ทันสมัย การริเริ่มกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ด้วยการบูรณาการกรอบการดำเนินงานที่มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA จำนวน 5.8 พันล้านบาท นับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 1/2568 EBITDA เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การเติบโตของ EBITDA มาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และวินัยทางการเงิน อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้น 4.0 จุดเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 61.2% สำหรับไตรมาสแรกของปี 2568

ในไตรมาสที่ 1/2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานกำไรสุทธิหลังหักภาษีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ควบรวมกิจการที่ 1.6 พันล้านบาท สำหรับไตรมาสนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time costs) จำนวน 2.9 พันล้านบาทที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่าสินทรัพย์จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย เมื่อปรับปรุงผลกระทบจากรายการครั้งเดียวและผลประโยชน์ทางภาษีในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 160 ล้านบาท กำไรสุทธิหลังหักภาษีมีจำนวน 4.3 พันล้านบาท

โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA และการลดลงของค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นต้นทุนการบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 พลิกมีกำไรสุทธิ 1,387.23 ล้านบาท จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 409.09 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากบริษัทมีการยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 5.6 ล้านคนในไตรมาส 1/68 เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ปริมาณที่นั่งให้บริการเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 6.4 ล้านที่นั่ง ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารโดยรวมอยู่ที่ 87%

ทั้งนี้ การเดินทางภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลักของ TAA โดยมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 67% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดและครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 42% ในเดือน มี.ค.

อีกทั้ง บริษัทมีรายได้จากบริการเสริมอยู่ที่ 2,395.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับ แรงหนุนหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและการเลือกที่นั่งที่เพิ่มขึ้น และมีรายได้อื่นอยู่ที่ 329.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 110.8 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เทียบกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 2,049.4 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทอยู่ที่ 11,181.1 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 4,038.8 ล้านบาท ลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, ค่าซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ที่ 1,934.3 ล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก APU (Auxiliary Power Unit) บางเครื่องยังไม่ถึงรอบเข้าบำรุงรักษา, ต้นทุนขายและการให้บริการอื่นๆ อยู่ที่ 2,920.1 ล้านบาท ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากค่าธรรมเนียมลงจอดและค่าบริการสนามบินที่ลดลงตามจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลง

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 พลิกมีกำไรสุทธิ 688.69 ล้านบาท จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 329.70 ล้านบาท

ด้านนายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ของบริษัทฯ เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 34,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และพลิกมีกำไรสุทธิ 689 ล้านบาท จากขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 19.4% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น

แต่เนื่องจากในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ มีรายได้พิเศษจากดอกเบี้ยรับคืนจากเงินกู้ระยะยาวจำนวน 483 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ทำให้ภาพรวมกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โดยปัจจัยหลักของการเติบโตมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) ราคายางธรรมชาติและถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น โดยราคายางแท่ง TSR20 ณ ตลาด SICOM ไตรมาส 1/2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 197 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 13% จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2567 ที่ 174 เซนต์ต่อกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีราคาเฉลี่ย 196 เซนต์ต่อกิโลกรัม และ 2) ปริมาณการขายยางธรรมชาติรวมทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาสอยู่ที่  396,955 ตัน เติบโต 24.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า

โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นยอดขายจากการส่งมอบยาง EUDR ราว 43,000 ตัน สะท้อนถึงดีมานด์ที่มีต่อเนื่องแม้ชะลอตัวบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ 9.1 จากร้อยละ 7.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 7.5 จากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทฯ มากนัก เนื่องจากกลุ่มบริษัทศรีตรัง มีสัดส่วนรายได้จากการขายยางธรรมชาติและถุงมือยางไปยังสหรัฐฯ เพียง 10% ของรายได้รวมในปีที่ผ่านมา และสหรัฐฯ มีการบริโภคยางธรรมชาติเพียง 4-5% ของความต้องการใช้รวมทั่วโลกเท่านั้น เนื่องจากไม่มีฐานการผลิตยางรถยนต์ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยางธรรมชาติถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับยกเว้นจากการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติของไทยอาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางล้อซึ่งอาจมีผลกระทบทางอ้อม โดยสถานการณ์ในช่วงนี้ลูกค้าในไทยและต่างประเทศอยู่ในระหว่างประเมินความชัดเจนจากการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ของไทยและประเทศอื่นๆ โดยประเมินว่าหากสถานการณ์มีความชัดเจนขึ้น บริษัทฯ จะได้รับผลเชิงบวกด้านคำสั่งซื้อจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติ โดยเฉพาะยางแท่ง (TSR) แล้วเสร็จไปกว่า 90% ของเป้าหมาย 4.0 ล้านตันภายในปี 2569 จากแผนลงทุนที่ดำเนินการมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 385.18 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 23.94 ล้านบาท โดยเป็นผลจากรายได้รวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้รวมไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 4,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 2,088 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากยอดขายในกลุ่มงาน OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่เติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะในธุรกิจผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายเดิมและรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รายได้จากกลุ่มงาน EA PART ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำหรับเครื่องปรับอากาศ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามยอดขายของกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าว สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและการขยายฐานลูกค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

การฟื้นตัวของผลประกอบการในครั้งนี้ สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการของบริษัททั้งด้านต้นทุน การผลิต และกลยุทธ์การขยายตลาด OEM ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนรายละเอียดตัวเลขผลประกอบการตัวอื่นๆ ดูจากตารางประกอบดังนี้

Back to top button