
อุยกูร์กับภาษีทรัมป์
เส้นตายการผ่อนผันภาษีตอบโต้ทางการค้า 90 วัน ที่มีต่อประเทศทั่วโลกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 8 ก.ค.ที่จะถึงนี้
เส้นตายการผ่อนผันภาษีตอบโต้ทางการค้า 90 วัน ที่มีต่อประเทศทั่วโลกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 8 ก.ค.ที่จะถึงนี้ หลังจากนั้น แต่ละประเทศจะเผชิญชะตากรรมอย่างไร ก็ยังยากจะคาดเดา
สำหรับประเทศไทยเรา มีเดิมพันด้วยมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 52,867 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นเงินไทยในราว 1,883,681 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 18% ของมูลค่าส่งออกทั่วโลก
สินค้าส่งออกหลักได้แก่ ชิ้นส่วน-อุปกรณ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ยางธรรมชาติ และอาหารสัตว์ ฯลฯ ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 36% จากอัตราการจัดเก็บเดิมที่ 10% เท่านั้น
เศรษฐกิจไทยปั่นป่วนหนักแน่ และจะกระทบไปถึงพี่น้องเกษตรกรด้วย
ในบรรดาชาติในอาเซียน ประเทศไทยถูกจัดลำดับอัตราภาษีสูงเป็นลำดับที่ 5 รองจากกัมพูชา 49%, ลาว 48%, เวียดนาม 46% และเมียนมา 44% ส่วนประเทศที่เก็บภาษีต่ำกว่าไทย ได้แก่อินโดเนเซีย 32%, มาเลเซีย 24%, ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
ถนนทุกสายมุ่งสู่เส้นทางเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งหน่วยงานหลักรับผิดชอบคือ USTR หรือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือได้มีโอกาสพบปะพูดจากับทรัมป์ ไม่ว่าจะแค่เซย์ เฮลโล หรือพูดจากันประสาฉันมิตรแค่ 3-5 นาทีก็ยังดี
น่าเสียดายอยู่นิดที่ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตามคำเชิญของเจ้าผู้ครองนครรัฐกาตาร์ ซึ่งงานนั้นมีโอกาสจะได้พบปะกับประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย อย่างน้อยในฐานะมิตรเก่า…
แม้ไม่ได้มีโอกาสเจรจาเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็คงจะได้ทักทายแสดงตัวตน และฝากฝังให้ช่วยดูแลผลประโยชน์ประเทศไทยกันบ้าง
รัฐบาลอเมริกา คงไม่ได้คิดคำนวณอัตราภาษีตอบโต้ แค่เรื่องใครเอาเปรียบ หรือใครได้ดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่น่าจะมีปัจจัยเรื่องผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ผลประโยชน์ทาง์การเมือง หรือทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วยไม่มากก็น้อย
ปัญหาการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับสู่จีน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกับออกแถลงการณ์ประณาม พร้อมทั้งประกาศไม่ยอมอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศให้แก่เจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการบังคับเนรเทศชาวอุยกูร์มาแล้ว
ไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ไทยเป็นใครบ้าง จะหมายถึงรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีต่างประเทศ หรืออาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายด้วยหรือไม่ แต่ในการเตรียมตัวส่งคณะไปเจรจาสหรัฐฯ นั้น ใช้รมว.คลัง นายพิชัย ชุณหวชิรเป็นหัวหน้าคณะ
กรณียังมีชาวอุยกูร์ตกค้างอีก 4 คน รอการเนรเทศ มีรายงานข่าวแน่ชัดมาแล้วว่า ทางการสหรัฐฯ แจ้งผ่านสถานทูตประจำกรุงเทพฯ ว่า “หากไม่มีการส่ง 3 อุยกูร์ไปประเทศที่สาม (ไม่ใช่จีน) ก็คงไม่มีการเปิดโต๊ะเจรจาเรื่องภาษีการค้า”
ปัญหาอุยกูร์ กลายเป็นเดิมพันผลประโยชน์บ้านเมืองจนได้ ช่างสาหัสสากรรจ์ จริงแท้เชียวหนอ ประเทศไทยยามนี้
ชาญชัย สงวนวงศ์