
วัดใจก.ล.ต.ต่อวาระ ‘กิติพงศ์’
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ในฐานะประธานกรรมการ ตลท. ได้เปิดผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
เส้นทางนักลงทุน
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ในฐานะประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะหมดวาระในวันที่ 5 ส.ค. 2568 ซึ่งหากจะเริ่มนับถอยหลังไปก็คงเหลือเวลาอีกประมาณ 100 วันเท่านั้นในการทำงาน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการตลท.ในโควตาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนที่จะได้รับเสียงโหวตจากบอร์ดตลท.ให้รั้งตำแหน่งประธานฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 จึงต้องจับตามองว่าบอร์ดก.ล.ต.จะต่อวาระให้อีกหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติยังสามารถต่อได้อีก 1 วาระ
หากจะพูดถึงผลงาน แม้ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” จะเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดตลท.ได้เพียง 12 เดือน แต่ถือว่ามีความโดดเด่น นับตั้งแต่ ตลท.มีประธานบอร์ดมา 19 คน
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเข้ามารับตำแหน่งอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากในขณะนั้นตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับปัญหานักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอันเป็นผลจากความฉ้อฉลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และปัญหาค้างคาใจว่าชอร์ตเซลทุบหุ้นไทย ตลอดจนความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมในการส่งคำสั่งซื้อขายของนักลงทุนแต่ละประเภท ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยภายนอกกดดันให้ตลาดทุนไทยรั้งท้ายสร้างผลตอบแทนได้น้อยที่สุดในโลก
แน่นอนว่าในระยะเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีที่ผ่านมา ผลงานต่าง ๆ ของ ตลท.ไม่ได้ออกมาจากประธานฯ แค่คนเดียว แต่เป็นการจับมือกันจากบอร์ดและทีมงานในการทั้งผลักและทั้งดันเพื่อให้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้ผลงานที่ดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างแล้วในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นนั้น ตลท.ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายรวมถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน ทั้งการปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ต หรือ Short Sell, Uptick, Dynamic Price Band และการขึ้นทะเบียน HFT
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงเกณฑ์และเพิ่มเติมเกณฑ์ บจ. ที่เห็นเด่นชัด คือ การเพิ่มคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai, การกำหนดว่า บจ.จะต้องไม่เป็น Investment Company, การแยกประเภทเครื่องหมาย C, ผลักดันการปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่อง Treasury Stock หรือ การซื้อหุ้นคืน, ริเริ่มประยุกต์ใช้ AI ในการกำกับการซื้อขาย, ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน, ส่งเสริมการเพิ่มความเท่าเทียมในการซื้อขาย เช่น Co-location
สำหรับการเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดทุน เช่น สนับสนุน Family Business, ผลักดันการลงทุนระยะยาว ตลอดจนขยายเวลาทำการซื้อขายใน SET และ mai ขณะเดียวกัน ยังผลักดันกฎหมายตลาดทุนเพื่อความเท่าเทียม เช่น ส่งเสริมให้ความรู้ด้านกฎหมายหลักทรัพย์, ริเริ่มหลักสูตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพัฒนาตลาดทุนระดับสูง ส่วนการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน เช่น สนับสนุนเรื่อง ESG ผ่านโครงการ ESG Data Platform
“ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ปิ๊งไอเดียอะไร เพื่อทิ้งท้ายก่อนหมดวาระในฐานะประธานบอร์ดตลท.ในระยะเวลาอีกประมาณ 100 วันที่เหลือนี้ คำตอบ คือ
- ผลักดันโปรดักส์ใหม่ ๆ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยขาดแคลนสินค้า หรือ บจ.ที่มีคุณภาพ เช่น New Economy เพื่อให้เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับ BOI เพื่อจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี, การดึงธุรกิจครอบครัว, บริษัทลูก-บริษัทย่อยของบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน รวมทั้งการให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยแยกส่วนธุรกิจออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ หรือ Spin-Off ซึ่งโจทย์ข้อนี้ตั้งเป้าหมายอยากเห็นตลาดหุ้นไทยมีจำนวน บจ.1,500 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 800 บริษัท
- แยกกระดานการซื้อขายรองรับสินค้าประเภท New Economy เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้สินค้ากระดานนี้อาจเป็นบริษัทใหม่ หรือ สตาร์ตอัพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี คลาวด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยไม่จำเป็นจะต้องมีกำไร 3-5 ปี
- ลดจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ให้เหลือเพียง 18 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 39 แห่ง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ หลังจากพบว่า บล.ส่วนใหญ่มีผลขาดทุนมาต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากภาวะผันผวนของตลาดหุ้นไทยจนทำให้ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ ตลท.อาจจะต้องเพิ่มแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดการควบรวมธุรกิจกัน
โครงการ Jump+ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ทั้งบอร์ดและทีมงานตลท.หมายมั่นว่าจะช่วยสร้างมูลค่าและการเติบโตให้ บจ.และตลาดหุ้นไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มีแผนจะคลอดอย่างเป็นรูปธรรมช่วงเดือน มิ.ย. 68
ในฐานะประธานบอร์ดตลท.ยังมีอีกหลายเรื่องที่ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์”ต้องการจะผลักดัน แต่งานนี้ต้องวัดใจ ก.ล.ต.ว่าจะต่อวาระให้หรือไม่ ซึ่งมีเสียงแว่ว ๆ ว่าจะไม่ต่อ…จริงหรือเปล่านะ!!!