
“ก.ล.ต.” คุมเข้ม G-Token ตามพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เตรียมเปิดเฮียริ่ง พ.ค.นี้
“ก.ล.ต.” ย้ำบทบาทการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัล “G-Token” ของรัฐบาล ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม พร้อมเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดทุน เตรียมเปิดรับฟังความเห็นภายในเดือนพ.ค.นี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) หรือ G-Token และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการลงทุนของประชาชนผ่านการพัฒนากลไกบริหารหนี้สาธารณะโดยใช้เทคโนโลยี และเพิ่มการเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง
อีกทั้งขยายฐานผู้ลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนและส่งเสริมการออมและการลงทุนที่หลากหลายของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและลงทุนในตลาดทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์และการให้บริการในตลาดทุน (enhanced ecosystem) ให้มีการแข่งขัน
ที่เป็นธรรม โดยมีการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมและมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม
การออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ G-Token โดยกระทรวงการคลังตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ระบุให้มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กำหนด และเป็นการออกตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ทำให้ ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งด้านการส่งเสริมการเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของประชาชน การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคม 2568
สำหรับการเสนอขาย G-Token โดยกระทรวงการคลัง ไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายต่อ ก.ล.ต. ซึ่งสอดคล้องกับ
การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การระดมทุนอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ทั้งนี้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ออกเสนอขายต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขาย G-Token และภายหลังจากการออกเสนอขายแล้วจะนำ
G-Token ไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความสะดวกในการซื้อขายสำหรับผู้ถือ G-Token ที่ประสงค์จะขาย G-Token ก่อนครบกำหนด
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง ก.ล.ต. จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สามารถให้บริการเกี่ยวกับ G-Token ได้ ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งต้องไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (MOP) สำหรับการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีระบบป้องกันการกระทําอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ลงทุนของ ก.ล.ต. เพื่อความเป็นธรรมในการซื้อขายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตลาด
ก.ล.ต. ขอเน้นย้ำว่า ไม่ว่าการออกระดมทุนและการเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนจะอยู่ในรูปแบบใด บทบาทของ ก.ล.ต. คือ การกำกับที่มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน
อนึ่ง G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ผ่านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด เป็นการกู้เงินตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
สำหรับบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำกับดูแล G-Token มุ่งเน้นที่การส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของประชาชน (financial inclusion), สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการระดมทุนและการลงทุน (digital innovation), ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดทุน (level playing field), วางกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ รวมถึงไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (Medium of Payment: MOP) และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน และ พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501
ส่วนประโยชน์ของ G-Token ต่อระบบเศรษฐกิจไทย คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้เพิ่มช่องทางการออมและการลงทุนของประชาชน (financial inclusion) สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล และสอดคล้องกับนโยบายเชิงรุกของ ก.ล.ต.
ในมุมของผู้ลงทุนทั่วไป G-Token มีจุดเด่นสำคัญ ได้แก่ สามารถเข้าถึงการลงทุนได้ด้วยเงินเริ่มต้นไม่สูง,มีสภาพคล่องจากการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง และได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดโดยภาครัฐ
สำหรับการออกและเสนอขาย G-Token เป็นไปตามรูปแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยผู้ลงทุนสามารถจองซื้อผ่านผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และจะมีการจัดสรรในรูปแบบ “รายย่อยมาก่อน” (small lot first)
ทั้งนี้ G-Token ไม่ถือเป็นหลักทรัพย์หรือพันธบัตร เนื่องจากเป็นการกู้เงินโดยใช้โทเคนดิจิทัลตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ และมีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 3 ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งให้สิทธิผู้ถือได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กำหนด
ส่วนความแตกต่างระหว่าง G-Token กับ stablecoin คือ G-Token มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและลงทุน โดยไม่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (MOP) ขณะที่ stablecoin เป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่ออกแบบมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนมูลค่า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP และ ก.ล.ต. ก็ไม่สนับสนุนในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับตลาดรอง G-Token จะสามารถซื้อขายได้ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ สบน. กำหนด โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เช่น KYC, sales conduct และการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการลงทุน
ส่วนผู้ถือ G-Token ควรศึกษาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของ G-Token ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีที่ใช้ การเปิดกระเป๋าเงินดิจิทัล (wallet) และสิทธิที่ได้รับตามเงื่อนไขของกระทรวงการคลัง ตลอดจนประเมินความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตนเอง
ในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. มีกลไกป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม เช่น การปั่นราคา (market manipulation) ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและบทลงโทษทางแพ่งตามกฎหมาย และจะกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผย “ราคาอ้างอิง” (indicative price) ที่คำนวณจากเงินต้นและผลตอบแทน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและป้องกันการบิดเบือนราคาในตลาด