
ท่องเที่ยว เครื่องยนต์ขัดข้อง.!
เป็นที่รู้กันว่า เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดย 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว
เป็นที่รู้กันว่า เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดย 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว แต่ดูเหมือนตอนนี้เครื่องยนต์ที่ว่าจะมีปัญหาขัดข้องเกือบทุกตัวนะจิบอกให้..!!
อย่างเครื่องยนต์การบริโภคภายในประเทศ เผชิญกับกำลังซื้อหดตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ครั้นจะหวังพึ่งเครื่องยนต์ภาคการส่งออก ก็เจอภาษี “ทรัมป์” กดดัน ซึ่งฉุดให้เศรษฐกิจโลกซบเซา งั้นก็มีเครื่องยนต์ตัวสุดท้าย ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของหมู่บ้าน…
แต่เอาเข้าจริง ภาคการท่องเที่ยวก็ไม่ได้ดีเด่อย่างที่คิดแฮะ ก็ขัดข้องไม่ต่างกัน…เห็นได้ชัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทยลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มหลักช่วยขับเคลื่อนการเติบโตภาคท่องเที่ยวไทย
ถ้าย้อนดูสถิติของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในช่วงปี 2557 – 2562 เติบโตแข็งแกร่ง โดยเพิ่มจาก 4.6 ล้านคนในปี 2557 สู่ระดับสูงสุด 11.1 ล้านคนในปี 2562 ก่อนจะลดวูบเหลือ 1.3 ล้านคนในปี 2563 จากผลกระทบของวิกฤตโควิด และเหลือหลักหมื่นในปี 2564 อยู่ที่ 26,558 คน และปี 2565 มีจำนวน 258,662 คน
เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจีนเริ่มฟื้นตัว โดยในปี 2566 มีจำนวน 3.5 ล้านคน และปี 2567 เพิ่มเป็น 6.7 ล้านคน แต่ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2568 มีนักท่องเที่ยวจีนเพียง 1.9 ล้านคน ลดลง 32.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย 35 ล้านคน ในขณะที่ปี 2567 ทำได้ 35.5 ล้านคน โดยคาดจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพียง 4.4 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ที่ทำได้ 6.7 ล้านคน
ส่วนที่เห็นรายรับภาคท่องเที่ยวในภาพรวมยังขยายตัวได้ โดยในปี 2568 คาดจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2567 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 43,400 บาท เพิ่มจาก 39,500 บาทในปี 2567 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกลที่เพิ่มขึ้น
อีกข้อมูลที่น่าสนใจ ถ้าไปดูการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น 106% จากช่วงก่อนเกิดโควิด ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งรวมคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นแค่ 12% เท่านั้น…จะเห็นว่าจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ซุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโอเวอร์ซัพพลายได้นะเนี่ย…
นั่นหมายถึงมีโอกาสที่จะเห็นร้านอาหารทยอยปิดตัวได้ในอนาคต..!?
เมื่อเครื่องยนต์การท่องเที่ยวขัดข้องอย่างนี้…ทางแก้ไม่รู้ว่าจะต้องยกเครื่องใหม่หรือเปล่า..??
แน่นอนว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนามบิน ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กลุ่มสายการบิน ได้แก่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA
กลุ่มโรงแรม ได้แก่ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR
และกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เป็นต้น
มิน่าล่ะ…ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นพวกนี้ถึงทรง ๆ ทรุด ๆ ไปไหนได้ไม่ไกล..??
คงต้องจับตาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” จะซ่อมเครื่องยนต์ตัวนี้ให้กลับมาแข็งแกร่งได้หรือไม่..?? โดยเฉพาะโครงการ “สวัสดี หนีห่าว” ที่หวังฟื้นความชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีนจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน..??
อย่าปล่อยให้เครื่องยนต์ดับ…แล้วหาอะไหล่มาเปลี่ยนไม่ทันล่ะ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยคงพังยับเยินแหง ๆ…
…อิ อิ อิ…