
อดีตกรรมการร่าง รธน. 60 ชี้ รักษาการนายกยุบสภาได้ – อำนาจเต็ม 100%
อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 “ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์” ย้ำว่า ตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มตามกฎหมาย สามารถใช้อำนาจยุบสภาได้ แม้ในอดีตยังไม่เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นจริง
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงการเมือง และอาจกลายเป็น “ไพ่ใบสำคัญ” ในเกมการเมืองหลังจากนี้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง “รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี” หรือที่เรียกกันว่า “นายกฯ รักษาการ” มีอำนาจในการยุบสภาได้หรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568

เหตุผลที่เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะ “ปรมาจารย์” ด้านนิติศาสตร์หลายคนเคยตีความว่า แม้จะเป็นตำแหน่งรักษาการ แต่ถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งย่อมมีอำนาจไม่แตกต่างจากตัวจริง ทั้งในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือแม้แต่การยุบสภา
แต่แล้ว…เรื่องนี้ก็มีเหตุการณ์ที่เหมือนหักปากกาเซียน
ประเด็นนี้เริ่มมีข้อโต้แย้ง เมื่อมีรายงานข่าวว่า ในการประชุมครม. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า ความเข้าใจเดิมอาจคลาดเคลื่อน และรักษาการนายกรัฐมนตรี อาจไม่มีอำนาจยุบสภา โดยอ้างอิงแนวทางรัฐสภาแบบอังกฤษ ซึ่งมองว่าการยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้สัมภาษณ์ ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับรายงานข่าวที่อ้างอิงว่าเป็นความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมายจำนวนหนึ่งว่า แม้จะเป็นรักษาการ แต่อำนาจก็ไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรีตัวจริง
“รักษาการนายกฯ ต้องถือว่ามีอำนาจเต็ม 100 เปอร์เซนต์ เหมือนนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งปกติ” ดร.อมร กล่าว
ดร.อมร ยังวิเคราะห์ว่า หากกระแสข่าวข้างต้นเป็นความจริง เชื่อว่าสิ่งที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาสื่อสารออกมา น่าจะมีเหตุผลและมุมมองส่วนตัว
“ถ้านายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วคนที่รักษาการไม่อำนาจ หรือไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่น่าต้องเป็นอย่างนั้น”

สำหรับประเด็นเรื่อง มาตรา 103 ที่ระบุว่า “เป็นพระราชอำนาจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเสนอและสนองพระบรมราชโองการ” ดร.อมร อธิบายว่า ถ้าตีความตามในกฎหมายนี้ ก็ต้องทำได้ เพราะ “เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี” ที่ในเมื่อตัวเองไม่อยู่แล้ว ก็ต้องมอบอำนาจให้บุคคลอื่นที่มีอำนาจ
แม้ตามหลักกฎหมาย รักษาการนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจเต็ม แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่เคยมีกรณีที่รักษาการนายกฯ ใช้อำนาจยุบสภา
ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดคือ กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565 รวม 38 วัน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยในช่วงดังกล่าว พล.อ.ประวิตรไม่ได้ใช้อำนาจยุบสภา หรือดำเนินนโยบายทางการเมืองสำคัญใด ๆ
ทำไมในอดีตไม่เคยมีกรณีที่รักษาการนายกฯ ยุบสภา?
ดร.อมร ให้ความเห็นว่า อาจเป็นไปได้ว่า เพราะเกรงว่า หากยุบสภาแล้ว พรรคการเมืองที่บริหารอยู่จะไม่สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลอีก จึงเลือกใช้แนวทางอื่น เช่น การลาออก หรือในบางยุคสมัยก็มีเงื่อนไขทางการเมืองอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
“คิดว่ารัฐบาลยุคเก่า ๆ อาจจะเผชิญหน้ากับเรื่องของการถูกท้าทาย การถูกประลองอำนาจกันอยู่ ก็เลยไม่สามารถสร้างสมดุลได้”
สำหรับมุมมองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน หากวิกฤตการเมืองรุนแรงขึ้นจนไม่มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง รักษาการนายกฯ ควรใช้กลไกยุบสภาหรือไม่ ดร.อมร เห็นว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลพิจารณา หากเห็นว่าการยุบสภาจะนำไปสู่ความชัดเจนและสามารถกลับมาบริหารได้ ก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ครบถ้วน ซึ่งถ้าเลือกยุบสภา แสดงว่ามีความมั่นใจว่าจะกลับมาได้อีกหลังเลือกตั้งแล้ว
สำหรับกรณีที่มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อระบุขอบเขตอำนาจของรักษาการนายกฯ ให้ชัดเจนมากขึ้น ดร.อมร เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่ถึงทางตัน
“มีทางเลือกเยอะแยะ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการใดในการบริหารปกครองประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปร่างเฉพาะ เพราะว่าถ้าร่างไป อีกหน่อยมีปัญหาอะไรก็ต้องไปร่างหมด โดยไม่ได้ดูในเนื้อหารัฐธรรมนูญ” อดีตโฆษก กรธ. กล่าว

ย้อนดูประวัติศาสตร์ 14 ครั้ง การยุบสภาไทย – ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงรักษาการ
ทีมข่าวรวบรวมข้อมูลจากข่าวการเมืองสำคัญ ประกอบกับฐานข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ประเทศไทยมีการยุบสภาทั้งหมด 14 ครั้ง โดยทุกครั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการรักษาการนายกรัฐมนตรีเลยแม้แต่ครั้งเดียว
- 11 กันยายน 2481 – พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
- 15 ตุลาคม 2488 – ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- 12 มกราคม 2519 – ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
- 19 มีนาคม 2526 – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
- 1 พฤษภาคม 2529 – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
- 29 เมษายน 2531 – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
- 30 มิถุนายน 2535 – นายอานันท์ ปันยารชุน
- 19 พฤษภาคม 2538 – นายชวน หลีกภัย
- 28 กันยายน 2539 – นายบรรหาร ศิลปอาชา
- 9 พฤศจิกายน 2543 – นายชวน หลีกภัย
- 24 กุมภาพันธ์ 2549 – พ.ต.ท. (ยศในขณะนั้น) ทักษิณ ชินวัตร
- 10 พฤษภาคม 2554 – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- 9 ธันวาคม 2556 – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- 20 มีนาคม 2566 – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แม้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้รักษาการนายกฯ ใช้กลไกยุบสภาได้ แต่บริบททางการเมืองมักเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดว่าทางเลือกนี้จะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่