“สิงคโปร์” เปิดตัวเลข GDP ไตรมาส 2 โต 4.3% รับภาคการผลิตหนุน

สิงคโปร์ยังรอด “จดหมายภาษี” จากทรัมป์! ขณะเศรษฐกิจ Q2/2568 โตแรง 4.3% ดีกว่าคาด รับแรงหนุนจากภาคการผลิต แม้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.ค.68) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผย เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาส 2/2568 เร่งตัวขึ้นจาก 4.1% ในไตรมาสแรก และดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ที่ 3.5% เมื่อเทียบรายไตรมาส GDP ขยายตัว 1.4% พลิกฟื้นจากที่หดตัว ‑0.5% ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการผลิต ซึ่งเติบโต 5.5% เมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในไตรมาสแรก โดยภาคนี้มีสัดส่วนราว 17% ของเศรษฐกิจประเทศ

แม้ตัวเลข GDP จะออกมาดีเกินคาด แต่ MTI ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านขาลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ยังคงขาดความชัดเจน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน MTI ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปีของสิงคโปร์ลงเหลือ 0-2% จากเดิม 1-3% หลังเศรษฐกิจขยายตัวทั้งปี 4.4% ในปี 2567

สิงคโปร์ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะยังไม่ถูกสหรัฐฯ ส่ง “จดหมายแจ้งภาษี” โดยตรงจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่สิงคโปร์ยังคงเผชิญอัตราภาษีมาตรฐานพื้นฐาน (baseline) ที่ 10% แม้มีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2547 และมีดุลการค้าเป็นฝ่ายขาดดุลกับสหรัฐฯ

สำหรับในเดือนเมษายน สิงคโปร์จัดตั้งคณะทำงาน Economic Resilience Task Force เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการประกาศเตรียมออกเงินช่วยเหลือ (grants) เพื่อช่วยผู้ประกอบการรับมือความตึงเครียดทางการค้าโลก

นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลข GDP ยังมีขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore — MAS) จะประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากการประชุมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา MAS ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง โดยให้เหตุผลว่า มีความเสี่ยงด้านขาลงต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์จากความผันผวนในตลาดการเงินและการหดตัวของอุปสงค์ต่างประเทศมากกว่าที่คาด

MAS ยังเตือนว่า หากการค้าโลกลดลงรวดเร็วหรือยืดเยื้อเกินคาด จะกระทบต่อภาคที่เกี่ยวข้องกับการค้าของสิงคโปร์อย่างรุนแรง และส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวม ท่ามกลางความคาดหมายของตลาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อของสิงคโปร์อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลดดอกเบี้ย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 0.8% ต่ำสุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมที่พักอาศัยและการขนส่งส่วนบุคคล) อยู่ที่ 0.6% ลดลงจาก 0.7% ในเดือนเมษายน

Back to top button