
“พิชัย” ยันรัฐเตรียมซอฟต์โลน 2 แสนล้าน เยียวยา เอสเอ็มอี–เกษตรกร รับมือภาษีทรัมป์
รองนายกฯ “พิชัย” เผยเตรียมวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ ผ่านธนาคารรัฐ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.01% พร้อมหารือธนาคารพาณิชย์เพื่อออกมาตรการเสริม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าและภาษีกับสหรัฐอเมริกา (หัวหน้าทีมไทยแลนด์) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “กรอบเจรจาและรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์” ในงานเสวนาโต๊ะกลม “กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of The (Re) Deal” จัดขึ้นที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็กชั่น โฮเทล

นายพิชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) และเกษตรกรอย่างตรงจุด ปัจจุบัน เอสเอ็มอี (SMEs) มีทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐดูแล ส่วนเกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งพาธนาคารของรัฐ ซึ่งภาครัฐได้เตรียมซอฟต์โลน (Soft Loan) หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ใช้ความเข้มแข็งทางการเงิน (balance sheet) ของธนาคารรัฐเป็นฐาน โดยอัตราดอกเบี้ยเป็นซอฟต์จริง ๆ ในระดับ 0.01% เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือ
“สถาบันการเงินที่จะช่วยเหลือต้องเข้าใจลูกค้าว่าจะช่วยด้านสภาพคล่อง การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้าง หรือช่วยถือครองสินค้าคงเหลือในช่วงสุญญากาศเศรษฐกิจ” รองนายกฯ กล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลได้หารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรวบรวมข้อมูล และเตรียมมาตรการที่เหมาะสม หากความช่วยเหลือที่ธนาคารให้ได้ไม่เพียงพอ รัฐอาจพิจารณาเพิ่มมาตรการสนับสนุนโดยตรง
ด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นายพิชัย กล่าวว่า ทุกข้อเสนอจะมีผลผูกพันระยะยาว ดังนั้นเราต้องคิดให้รอบคอบ แนวทาง (approach) ที่ใช้ต้องเป็น win-win solution แม้ผู้เจรจาฝั่งตรงข้ามอาจไม่มองว่าเป็น win-win แต่เราต้องประคองวิธีคิดนี้ไว้
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาต่างประเทศ และเร่งสร้างความเข้มแข็งภายใน เราต้องใช้สิ่งที่เรามี, ผลิตและส่งออกเอง นี่คือการแก้โจทย์ที่ต้องเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ รองนายกฯ กล่าวถึงประเด็นข้อเจรจาที่มีลักษณะคล้ายความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งตามหลักอาจต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ว่า แม้บางเงื่อนไข เช่น เรื่องอัตราภาษี อาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว คิดว่าอย่างไรก็ต้องเข้าสภาฯ
นายพิชัย ยังเน้นว่า การทำให้สาธารณชนรับรู้และเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ “ยาหวาน” แต่เป็น “ยาขม” ที่ทุกประเทศต้องเผชิญ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจและเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ ยอมรับว่าไม่มีการเจรจาใดได้ผลลัพธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ การได้บางอย่างอาจต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่าง ไม่มีอะไรได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ นายพิชัยเปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การขยายการเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 69% จากเดิมประมาณ 63-64% ซึ่งรวมถึงสินค้าที่ไทยไม่เคยเปิดภาษี 0% ให้มาก่อน เช่น ลำไย ปลานิล และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
สำหรับประเด็นการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ไทยได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและการผลิตภายในประเทศ (Local Content) ขึ้นเป็น 60-70% เพื่อสร้างความยั่งยืนในการรับมือกับมาตรการทางภาษีในอนาคต ทั้งนี้ ยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวระยะยาว 5-10 ปี โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วน Local Content จากเดิมประมาณ 5% ให้ได้ถึง 50% หรือมากกว่า