
NETBAY สปีดครึ่งปีหลัง ดัน 3 แพลตฟอร์มหลัก ขยายฐานลูกค้า-ร่วมมือปปง. เชื่อมระบบตรวจสอบ
NETBAY เดินหน้ากลยุทธ์ครึ่งหลังปี 68 เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน 3 แพลตฟอร์มหลัก เสริมศักยภาพ RegTech และ AI รองรับการเติบโตธุรกิจไทย ล่าสุดบริษัทย่อยร่วมมือ ปปง. เชื่อมระบบตรวจสอบธุรกรรม พร้อมตอกย้ำการเติบโตเฉลี่ย 10–15% ต่อปี
นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในครึ่งหลังปี 2568 บริษัทฯ มุ่งเน้นสร้างความเติมโตอย่างต่อเนื่องกับธุรกิจการให้บริการในรูปแบบ Software as a Service (Saas) พร้อมกับการสร้าง Value ให้แพลตฟอร์มของบริษัทและกลุ่มบริษัทย่อย ภายใต้การนำประสบการณ์ด้าน “RegTech” หรือ “Regulatory Technology” มาประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัท เพื่อช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถดำเนินงานและรายงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ตามที่หน่วยงานที่กำกับดูแลกำหนด เช่น อุตสาหกรรมการเงิน, Logstics, ธนาคาร เป็นต้น โดยสามารถเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการดำเนินงานด้านการกำกับดูแล (Compliance) ที่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว แม่นยำ อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของหน่วยงานผู้กำกับดูแลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน NETBAY เดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยการสร้าง Value ใหม่ๆ บนแพลตฟอร์ม เพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยการให้บริการ 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ
1) ShippingNet Pluz แพลตฟอร์มให้บริการจัดทำ นำส่งใบขนสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานสำหรับกลุ่มลูกค้าโลจิสติกส์ โดยได้ Add Value และเปิดตัว Feature ใหม่โดยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงานให้ลูกค้าที่ใช้บริการได้รับความสะดวก ลดระยะเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
2) AiBox เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อยอดจาก iBox เดิมเพื่อยกระดับให้เป็น “The Trusted Digital Transformation Platform” ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
3) CHECK+ แพลตฟอร์มที่เน้นการให้บริการกลุ่มงานด้านการกำกับดูแล (Compliance) อย่างครบวงจร อาทิ ตรวจสอบตัวตน บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรม และนำส่งรายงานการทำธุรกรรมให้กับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อช่วยยกระดับให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงาน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภาคธุรกิจได้
“นอกจากนี้ บริษัท เคลาด์ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทย่อย ของ NETBAY ได้มีการลงนามใน NDA ทั้ง 2 ฉบับกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อครอบคลุมบริการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และได้รับอนุญาตเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการรายงานธุรกรรมในฐานะผู้ให้บริการตัวกลาง” นางกอบกาญจนา กล่าวเพิ่มเติม
นางกอบกาญจนา กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ก็ยังคงเติบโตทั้งมุมรายได้และความสามารถในการขยายฐานลูกค้าในบริการเดิมและบริการใหม่ของบริษัท โดยมีการนำเทคโนโลยี เช่น AI หรืออื่นๆ เข้ามา Add Value เพื่อขยายบริการของบริษัทได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง และสามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่าเดิม บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การให้บริการ AiBox กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ Retail และ Nano Leasing, การให้บริการ CHECK+ กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 13 (สหกรณ์) และมาตรา 16 (ร้านทอง อัญมณี, เต้นท์รถมือสอง, ผู้ค้าของเก่า เป็นต้น), การให้บริการ ShippingNet Pluz บนกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการทำธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐอีกหลายโครงการ รวมถึงการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ และพันธมิตรทางเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยกันต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นซึ่งนอกจากลูกค้าเอกชนแล้ว บริษัทยังมีความสามารถในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่กฎหมายของหน่วยงานนั้นนั้นกำหนด
นางกอบกาญจนา กล่าวต่อว่า บริษัทเดินหน้าแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตบนรายได้ประจำ (Recurring Revenue) เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 80-90% ของรายได้รวมทั้งหมด โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากโมเดลธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่บริษัทพัฒนาและให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่รายได้ที่เหลืออีก 10-20% จะมาจากการดำเนินโครงการ (Project-based Revenue) ที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรในโครงการต่าง ๆ
ทั้งนี้ รูปแบบรายได้ของบริษัทจะประกอบด้วยทั้งรายได้ประจำและรายได้แบบครั้งเดียว ซึ่งในบางกรณีบริษัทสามารถสร้างรายได้ทั้งสองรูปแบบจากโครงการเดียวกัน โดยมีรายได้ประจำจากการใช้งานแพลตฟอร์มควบคู่กับรายได้จากการให้บริการหรือพัฒนาโซลูชันเฉพาะทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับลูกค้า
ส่วนเทคโนโลยี AI บริษัทเน็ตเบสยังคงมุ่งเน้นการนำดิจิทัลมาแก้โจทย์ทางธุรกิจอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ business journey การออกแบบกระบวนการ (process design) และการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้งาน Document AI ซึ่งช่วยจัดกลุ่มและจัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เทคโนโลยี AI Box ของเน็ตเบสยังถูกนำไปใช้จริงในหลายกลุ่มธุรกิจ หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรม Nano Finance ซึ่งครอบคลุมธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การให้บริการผ่อนชำระโทรศัพท์มือถือ หรือสินเชื่อบุคคล โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนการยืนยันตัวตน ตรวจสอบเอกสาร และอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ บริษัท Gentle Woman ซึ่งได้เริ่มใช้งานแพลตฟอร์ม AI Box เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และสามารถสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ทั้งนี้ บริษัทย้ำว่า บริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% ในช่วงที่ผ่านมา และยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มปริมาณการใช้งานแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงศักยภาพในการเติบโตของบริษัทในระยะยาว” นางกอบกาญจนา กล่าวทิ้งท้าย