
ดีเดย์! รฟม. เปิดจอดรถ 24 ชม. ดันรายได้ non-fare รับพฤติกรรมคนเมือง
รฟม. ขยายเวลาให้บริการจอดรถ 24 ชั่วโมง ครอบคลุม MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวม 18 แห่ง รองรับกว่า 9,000 คัน อัพเกรด Smart Parking หนุนรายได้เสริม สร้างเศรษฐกิจรอบสถานี สอดรับนโยบายรัฐลดใช้รถส่วนบุคคล แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้ว่าการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ได้ขยายเวลาให้บริการจอดรถยนต์แบบ 24 ชั่วโมง ในอาคารและลานจอดรถ (Park & Ride) ของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับรถยนต์รวมทั้ง 2 สาย จำนวน 9,018 คัน เริ่มตั้งแต่วันนี้ (18 ก.ค.68)
โดยการขยายบริการดังกล่าวเกิดขึ้น หลัง รฟม. สำรวจความต้องการผู้ใช้บริการ พบว่า มีความต้องการใช้พื้นที่จอดรถในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเทศกาล คอนเสิร์ต หรือเดินทางไปทำธุระในสถานที่ที่เปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน เป็นต้น
รายละเอียดการคิดอัตราค่าบริการจอดรถ ดังนี้
MRT สายสีน้ำเงิน มีอาคารและลานจอดรถ รวม 14 แห่ง จอดรถได้ 4,095 คัน
– ค่าบริการจอดรถรายวัน สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า 15 บาท/2 ชั่วโมง ยกเว้นสถานีหลักสอง 10 บาท/2 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า 50 บาท/ชั่วโมง ยกเว้นสถานีหลักสอง 20 บาท/ชั่วโมง
– ค่าบริการจอดรถรายเดือน (เฉพาะช่วง 05:00 – 01:00 น.) 2,000 บาท/เดือน ยกเว้นสถานีหลักสอง 1,000 บาท/เดือน
MRT สายสีม่วง มีอาคารจอดรถ 4 แห่ง จอดรถได้จำนวน 4,923 คัน
– ค่าบริการจอดรถรายวัน สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า 10 บาท/2 ชั่วโมง และผู้ที่ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าบริการ 20 บาท/ชั่วโมง
– ค่าบริการจอดรถรายเดือน (เฉพาะช่วง 05:00 – 01:00 น.) คิดอัตรา 1,000 บาท/เดือน แต่หากนำรถมาจอดนอกช่วงเวลาดังกล่าวจะคิดค่าบริการจอดรถเพิ่มเติมในอัตราผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน รฟม. ยังยกระดับพื้นที่จอดรถทุกแห่งเป็นระบบ Smart Parking เช่น ระบบค้นหาที่จอด (Find my car), ระบบแนะนำช่องจอด (Parking Guidance), การใช้แอปพลิเคชัน “MRTA Parking” สำหรับเข้า-ออก และชำระค่าบริการ พร้อมติดตั้ง CCTV และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
นายกาจผจญ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคมในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดปัญหาจราจรติดขัด รวมถึงลดมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ในมุมมองเศรษฐกิจนั้น การเพิ่มบริการจอดรถ 24 ชั่วโมง และลงทุนระบบ Smart Parking ช่วยเพิ่มโอกาสรายได้ให้ รฟม. ในส่วนรายได้นอกค่าโดยสาร (non-fare revenue) ซึ่งกำลังกลายเป็นรายได้สำคัญของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทั่วโลก ทั้งยังเอื้อให้เกิด เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟฟ้า (station economy) เช่น ศูนย์การค้า ร้านอาหาร โรงแรม และคอนโดมิเนียม รวมถึงผลักดันให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เดินหน้าเข้าสู่ night-time economy ได้มากขึ้น