
เตือนภัย “พายุวิภา” จ่อถล่ม “เหนือ–อีสาน” ศธ. สั่งปิดโรงเรียนพื้นที่เสี่ยง
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศล่าสุด “พายุวิภา” อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน เคลื่อนปกคลุมแขวงเชียงขวางของลาว ห่างจากจังหวัดน่านเพียง 180 กิโลเมตร คาดส่งผลฝนตกหนักถึงหนักมากใน 40 จังหวัดทั่วไทย 23–24 ก.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ก.ค.68) กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 14 เรื่อง “พายุวิภา” และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย โดยระบุว่า เมื่อเวลา 01:00 น. พายุโซนร้อน “วิภา” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และเมื่อเวลา 04:00 น. ได้เคลื่อนปกคลุมบริเวณแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ที่ละติจูด 19.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 103.0 องศาตะวันออก หรือห่างจากจังหวัดน่านไปทางทิศตะวันออกราว 180 กิโลเมตร
ขณะนี้ “วิภา” มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงต่อไป โดยจะเคลื่อนตัวไปตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนของไทย
ทั้งนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับอิทธิพลของพายุวิภา ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 23–24 กรกฎาคม 2568 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก พร้อมลมกระโชกแรง
พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากในวันนี้ (23 ก.ค.) ได้แก่ จังหวัดในภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ส่วนภาคกลาง ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี ขณะที่ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก จันทบุรี และตราด และในภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ขณะที่วันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) ยังคงมีโอกาสเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ โดยจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมในภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี และกาญจนบุรี และภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก จันทบุรี และตราด
กรมอุตุนิยมวิทยาขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด และระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2–4 เมตร และในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองอาจมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2–3 เมตร โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองอาจมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว
เตรียมรับมือในสถานศึกษา – สั่งปิดโรงเรียนได้ทันทีหากพายุผ่าน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำแผนเผชิญเหตุและเตรียมความพร้อมรับมือพายุอย่างเข้มงวด โดยให้โรงเรียนที่อยู่ในเส้นทางพายุเคลื่อนผ่านเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปไว้ในพื้นที่ปลอดภัย และมีแผนดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรอย่างรัดกุม หากจำเป็นสามารถประกาศปิดโรงเรียนได้ทันที
นอกจากนี้ ให้ดำเนินการตัดแต่งต้นไม้ที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการโค่นล้ม และหากเกิดน้ำท่วมสถานศึกษา ให้ประสานการไฟฟ้าภูมิภาคในพื้นที่ตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ เมื่อระดับน้ำลดลงจนปลอดภัย ให้เร่งตรวจสอบความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซมทันที
“ปภ.” ส่งสัญญาณเตือนภัยเข้ม – เน้นพื้นที่เสี่ยง จ.น่าน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดน่าน ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำและลาดเชิงเขา ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 22–23 กรกฎาคม 2568 ได้แก่ ตำบลยอด อำเภอสองแคว ตำบลบ่อเกลือเหนือ และตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ ตำบลสกาด และตำบลภูคา อำเภอปัว ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง และตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ AIS, TRUE และ NT ส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงข้างต้น เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่
Line Official “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนที่ Line ID: @1784DDPM หรือโทรสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง