ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง “ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” ขาย IPO 2.5 พันล้านหุ้น เข้า SET

ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง "ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์" หรือ TPIPP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TPIPL ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) เสนอขาย IPO 2.5 พันล้านหุ้น เข้า SET โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปีนี้ หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ระดมทุนขยายโรงไฟฟ้าอีก 3 โรงเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็น 440 MW จากปัจจุบัน 150 MW โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ บริษัทจะนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ชำระหนี้คงค้างของบริษัท และใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท และเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปอื่นๆ ระยะเวลาในการใช้เงินในปี 59-60

อนึ่ง TPIPP เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV)

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL

ณ วันที่ 30 มิ.ย.59 บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 80 MW แบ่งเป็นโรงละ 20 MW และ 60 MW ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตามข้อมูลของ AWR Lloyd โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MW และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้า และมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง อีก 2 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 70 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 40 MW และ 30 MW โดยมี TPIPL เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า

นอกจากนี้ บริษัทยังมีสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่นำขยะชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบในพื้นที่ต่างๆ มาผ่านกระบวนการคัดแยกและแปรรูปให้เป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ 4,000 ตันต่อวัน สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ 2,000 ตันต่อวัน

ส่วนธุรกิจหลักกลุ่มที่สองคือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวม 12 แห่ง ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 8 แห่ง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) 3 แห่ง และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) อีก 1 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ทีพีไอพีแอล’ (TPIPL)

นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัตถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอีกด้วย

ด้านนายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอีก 290 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 150 MW คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 60 ซึ่งเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 440 MW

ทั้งนี้ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาด 70 MW ติดตั้งแล้วเสร็จและดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงราวไตรมาสแรกปี 60 บริษัทมีแผนนำโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งขนาด 30 MW ที่มีอยู่เดิมมารวมกัน เพื่อให้เป็นโรงไฟฟ้าขยะขนาด 100 MW รองรับการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.ในอนาคต ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินและขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนั้นจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ TPIPL

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อรองรับการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยจะขยายกำลังการผลิตให้สามารถรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน และสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน

Back to top button