“สุรงค์” มองพ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นประโยชน์ ชี้บจ.แจงผ่านสื่อถือเป็นสาธารณะแล้ว!

"สุรงค์" มองพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่เป็นประโยชน์ ชี้บจ.แจงข้อมูลผ่านสื่อถือเป็นสาธารณะแล้ว! อีกทั้งคาดว่าจะส่งผลดีแก่รายย่อยในเรื่องของการลงทุนและการรับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  หรือ GPSC ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยผ่านรายการ ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ต.ค.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนมีการเข้าไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เรื่องพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยมีข้อสรุปดังนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาทางสมาคม บจ.มีการเข้าไปพูดคุยกับสำนักงานก.ล.ต.เกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ในเบื้องต้นข้อสรุปที่ได้มาเป็นเช่นไรบ้าง

“เราได้มีการจัดเสวนาเรื่องของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยสาระที่สำคัญของข้อมูลก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่มันเปลี่ยนแปลงก็คือเรื่องของการควบคุมการใช้ข้อมูล ซึ่งในอดีตเป็นการควบคุมคนให้ข้อมูล แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นการควบคุมทั้งผู้ให้และผู้ใช้ช้อมูล เพราะฉะนั้นคนที่รับข้อมูลและคนที่ให้ข้อมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลนั้นๆ จึงมีความสำคัญว่ามิใช่เพียงแต่ผู้ให้ข้อมูล แต่ผู้ที่เอาข้อมูลนั้นไปใช้โดยชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ก็รวมถึงผู้สื่อข่าวด้วย 

โดยผมคิดว่าเรื่องของการปฏิบัติตามหน้าที่ของกรรมการก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนแปลงคือแนวขอบเขตที่จะต้องควบคุม นอกจากเรื่องขอบเขตที่จะต้องควบคุมการใช้ข้อมูลแล้วทางก.ล.ต.ก็ยังมีอำนาจในการพิจารณาว่า จะดำเนินเรื่องต่างๆในแนวของทางแพ่งหรือทางอาญาด้วย ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้กระบวนการยุติธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น และการใช้แนวปฏิบัติทางด้านกฎหมายก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ในฐานะของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้แนวทางในการให้ข่าวหรือให้ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนสามารถทำอะไรได้บ้าง และไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง

“หลักๆทุกคนก็ยังกลัวเรื่องดุลยพินิจ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ต่างๆ แต่ที่สำคัญผมคิดว่าหลักเกณฑ์ง่ายๆคือการให้ข้อมูลควรจะให้รู้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งตอนนี้เองทางก.ล.ต.ก็กำลังจัดเตรียมวีดีโอเทป เอกสาร เพื่อเผยแพร่ว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ มันมีข้อจำกัดเยอะหลายข้อครับ อย่างเช่น เรื่องของการเข้าไปซื้อบริษัทหรือซื้อโครงการซึ่งจริงๆแล้วมันจะมีข้อจำกัดว่า อะไรที่จะเป็นข้อมูลความลับอะไรที่ไม่ใช่ข้อมูลความลับ ซึ่งเส้นแบ่งมันค่อนข้างที่จะไม่ชัดเจน โดยคำถามเหล่านี้จะถูกประมวลและจะถูกนำมาเผยแพร่ว่าอะไรที่ควรและไม่ควร เพราะฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของกรรมการ ประธานกรรมการ และ CEO ของแต่ละบริษัท ต้องรับทราบแนวทางนี้ไว้”

ตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่ารับทราบทั่วถึงคือต้องมีการเปิดเผยข้อมูลไปที่ตลาดหลักทรัพย์ก่อนแล้วใช่ไหมครับ

“ครับ มันเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะต้องไปแจ้งที่ตลาดหลักทรัพย์นะครับ อันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมคิดว่าแนวปฏิบัติง่ายๆก็คือว่า ถ้าบอกให้ทราบก็คือต้องบอกให้คนอื่นเขาทราบด้วยถ้าเรากล้าให้ข้อมูลผมว่าเราก็ปลอดภัยแล้ว แต่ที่เราไปกระซิบบอกให้เขาไปทำให้หุ้นมันขึ้นลง แล้วตอนนี้เราเห็นชัดในเรื่องของดัชนีตัวชี้วัดที่เยอะมาก ราคาผิดปกติ จำนวนหุ้นผิดปกติ คนซื้อผิดปกติ อันนี้ตรวจได้ทันทีเลยเพราะว่าผมคิดว่ากระบวนการอิเล็กทรอนิกส์มันเข้มงวดอยู่แล้ว ผมคิดว่าง่ายๆถ้าเรากล้าบอกทุกคนเราก็น่าจะปลอดภัย”

สมมุติว่า ถ้าผู้บริหารบอกกับสื่อใดสื่อหนึ่ง และสื่อก็มีหน้าที่เผยแพร่ ก็เหมือนกับบอกเป็นสาธารณะไปแล้ว ตรงนี้ถือว่าเข้าข่ายผิดไหม

“ผมคงไม่อาจตัดสินได้ แต่ผมคิดว่าเรื่องของการให้ข้อมูลสื่อ แน่นอนครับผมคิดว่าคงไม่อาจให้ได้ทุกสื่อ แต่ด้วยนิยามการให้ข้อมูลสื่อคือการให้แก่สาธารณะแล้ว ก็คงจะต้องเป็นดุลยพินิจแล้วเหมือนกันว่าไม่ใช่แอบให้เฉพาะสื่อ แต่ผมคิดว่ากระบวนการหลักๆก็คือ ถ้าเรากล้าเปิดเผยข้อมูลแล้ว น่าจะปลอดภัยและผมคิดว่าเป็นเครื่องมือนึงที่ทำให้ความมั่นคงของผู้ถือหุ้นรายย่อยดีขึ้น เราจะได้ไม่เป็นเหยื่อและเป็นแมงเม่าของคนที่ปั่นราคา อันนี้ก็เป็นการช่วยให้เกิดความกระชับมากยิ่งขึ้นครับ”

ถ้าเกิดสื่อไปดักผู้บริหารที่หน้างานต่างๆ และถามคำถามแล้วนำมาเผยแพร่ถือว่าอยู่ในกรอบที่ทำได้ไหม

“ก็คงจะต้องใช้ดุลยพินิจนะครับ เข้าใจครับเราก็เคยอยู่ในสถานะนั้นมาก่อน ก็คือบางทีเขาบังคับให้พูดซึ่งสื่อก็มีเทคนิคเยอะ และอีกส่วนที่พ.ร.บ.นี้จะควบคุมคือเรื่องของการใช้ Nominee ว่าวันนี้ถ้าเราไปใช้บุคคลที่ 3 หรือ ว่าจะไปใช้บัญชีของเขาหรือใช้บัญชีคนอื่น เราเองและคนที่อนุญาตให้ใช้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในส่วนนั้นด้วย เพราฉะนั้นคำว่า Nominee ก็จะต้องมีการตีความว่า Nominee คือใคร ก็จะมีบังคับไว้และก็จะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะชัดเจนครับ”

ก่อนหน้านี้จะมีการออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการหรือว่าโครงการในอนาคตต่างๆ ตรงนี้ยังสามารถทำได้อยู่ไหมครับ

“เราก็มีการสอบถามกันในการสัมนาเมื่อวันจันทร์ ผมคิดว่าเรื่องของการประมาณการและการคาดคะเน ก็ยังเป็นเรื่องปกติ คงใช่ไม่ประเด็น แต่ประเด็นที่สำคัญคือมันจะไม่ใช่ข้อมูลที่ทำให้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบ แต่ถ้าเรื่องของแนวโน้มผมว่าการวิเคราะห์สถานการณ์ตาม Technical ผมคิดว่าไม่น่าจะมีประเด็นที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้

กรอบระยะเวลาในแง่ของบจ.ที่จะต้องรับทราบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือเมื่อไหร่ครับ

“พ.ร.บ.ฉบับนี้รอลงพระปรมาภิไธย ก็คงต้องใช้เวลาสักพักนึง แต่ผมคิดว่าทางบจ.ก็ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ ก.ล.ต.เราก็มีการเชื่อมโยงกัน ท่านเลขารพี ท่านก็ได้กรุณาใช้เวลาเดินสายเพื่อไปอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็น และผมก็คิดว่าสร้างความสบายใจให้กับกกรรมการต่างๆและนักลงทุนรายย่อย ซึ่งค่อนข้างจะมั่นใจยิ่งขึ้นว่าการถูกโจมตีโดยข้อมูลก็จะลดน้อยลง”

โดยรวมมองว่าพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ น่าจะเป็นผลบวกมากกว่าผลลบ ใช่ไหมครับ

“ครับ ผมคิดว่าจุดสำคัญของก.ล.ต.ที่จะต้องทำให้ได้ ก็คือเรื่องของการชี้แจงและก็ลดเรื่องดุลยพินิจ การที่จะลดเรื่องดุลยพินิจก็คือสร้างให้มันเป็นมาตรฐานว่าดุลยพินิจอย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไร ถ้ามันเกิดความมาตรฐานขึ้นมาแล้วในสังคมซึ่งทุกคนใช้ได้เท่าเทียมกันมันก็ไม่มีประเด็นอะไร ดังนั้นในกรณีที่ก.ล.ต.จะทำขึ้นมาก็คือ Do & Don’t อะไรที่ทำได้และอะไรที่ไม่ควรทำ ผมว่าถ้ามีการเผยแพร่อย่างชัดเจนแล้ว ความกังวลของนักวิเคราะห์ กรรมการ หรือผู้สื่อข่าวก็จะคลายไปได้เยอะ เพราะว่าทุกคนจะมีพื้นฐานของข้อมูลที่ควรหรือไม่ควรจะทำอยู่แล้วเท่ากันครับ”

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตามองว่าพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ และพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้บรรยากาศในการลงทุนและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

X
Back to top button