IOD ชี้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน สอบตกความรู้ข้อกฎหมายไทย

IOD เผยผลสำรวจชี้กรรมการไทยควรพัฒนาความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อหนุนให้กรรมการบริษัททำหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่า หลังงานเสวนาเรื่อง พ.ร.บ. ความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ที่จัดโดย IOD เมื่อวันที่ 10 มี.ค 60 ได้มีการสำรวจความคิดเห็นกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมในงาน และมีกรรมการร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 82 คน

โดยร้อยละ 70 เห็นว่าพ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ส่งผลให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลในกฎหมายอื่น ๆ อีก 76 ฉบับ เหมาะสมต่อการสนับสนุนให้กรรมการบริษัททำหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 13 เห็นว่ายังควรปรับปรุงกฎหมายให้เน้นการปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากขึ้น

“การที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าการขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายของกรรมการเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาความรู้ในเรื่องกฎหมาย

ซึ่งที่สำคัญคือความรับผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมการ เพราะหากกรรมการไม่ทราบหรือทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้ต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่รู้ตัวได้” นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจ กรรมการร้อยละ 21 มองว่าตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจน และรัดกุมเพียงพอ เปิดช่องให้มีการทำผิดกฎหมายได้ง่าย ในขณะที่กรรมการร้อยละ 5 เห็นว่าข้อจำกัดสำคัญคือบทลงโทษยังไม่รุนแรงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว

โดยประเด็นเรื่องการรับรู้ภาระความรับผิดตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการนั้น ร้อยละ 78 ระบุว่ากรรมการในบริษัทของตนรับรู้หลักการสำคัญของภาระความรับผิดตามกฎหมาย

ในขณะที่ร้อยละ 16 ระบุว่ากรรมการในบริษัทยังไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่มีภาระความรับผิดทางกฎหมายอย่างไร โดยมีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ที่ตอบว่ากรรมการในบริษัทเข้าใจภาระความรับผิดตามกฎหมายในรายละเอียดเป็นอย่างดี

สำหรับประเด็นที่กรรมการที่ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่กรรมการ ได้แก่ การเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมกับกรรมการ และบริษัทที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการขึ้นบัญชีดำกรรมการ และบริษัทที่กระทำความผิดอย่างเปิดเผย รวมถึงให้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้การคัดเลือกกรรมการ และการกำหนดคุณสมบัติกรรมการมีความรัดกุมมากขึ้น

Back to top button