SSP นับถอยหลัง COD โรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 18MW พร้อมเปิดกำไรปี60 พุธนี้ ลุ้นชงบอร์ดแจกปันผล!

SSP นับถอยหลัง COD โรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 18.2MW ใน Q1/61 พร้อมเปิดกำไรปี 60 วันพุธนี้ (28 ก.พ.) ผู้ถือหุ้นมีลุ้นปันผลสูงราว 40% จากกำไรสุทธิ ฟาก โบรกฯ เชียร์ซื้อ ชูเป้าสูง 10.70 บ. มองอนาคตเติบโตดี


นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ในวันที่ 28 ก.พ.2561 ที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมจะเสนอการจ่ายเงินปันผลในวาระการประชุมคณะกรรมการ โดยเบื้องต้นบริษัทฯมีนโยบายปันผลราว 40% จากกำไรสุทธิ

สำหรับในช่วงไตรมาส 1/61 บริษัทมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้า Hidaka ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 18.2 เมกะวัตต์ และในช่วงไตรมาส 4/61 บริษัทคาดว่าจะสามารถ COD โรงไฟฟ้า Zouen ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าโครงการโซลาร์สำหรับหน่วยงานราชการ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกกะวัตต์อีกด้วย

ทั้งนี้จากแผนการ COD โรงไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการดังกล่าวทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งในปี 61 รวม 103 MW ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำลังการผลิต 83.2 MW และส่งผลให้บริษัทคาดว่ากำไรในปี 61 จะสามารถทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ จากปัจจุบันบริษัทรับรู้รายได้หลักจากโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จ.ลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 52 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 40 เมกะวัตต์

ส่วนธุรกิจโซลาร์รูฟบริษัทตั้งเป้าปี 61 มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 MW จากปัจจุบันเข้าไปลงทุนติดตั้งระบบเพื่อขายไฟฟ้าขนาด 1.4 MW ซึ่งมองว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแผนย้ายเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมและส่งมอบเอกสารให้ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พิจารณา

ส่วนกรณีราคาหุ้น SSP ปรับตัวลงมาใกล้เคียงกับราคาที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 7.70 บาทนั้น คาดว่านักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริงเป็นเพียงผลกระทบทางบัญชีเท่านั้น

ทั้งนี้บริษัทยังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยบริษัทให้ความสำคัญกับ Core Profit ในการทำกำไร ซึ่งจะมีการประกาศอีกครั้งหลังจากมีการนำเข้าพิจารณาจากคณะกรรมการชัดเจนแล้ว

อนึ่ง ล่าสุดราคาหุ้น SSP ปิดตลาดวานนี้ (26 ก.พ.) อยู่ที่ 7.80 บ. บวก 0.05 บาท หรือ 0.65% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 7.24 ล้านบาท

ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายที่ 10.70 บาท โดย SSP เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แม้ผลประกอบการปี 2560 จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแต่เป็นการบันทึกทางบัญชีที่ไม่ใช่รายการเงินสด

โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเท่ากับ 52 MW และในไตรมาส 1/61 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเข้ามาอีก 21MW จากโครงการ Hidaka ในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเข้ามาระหว่างปี 2561-2563 อีก 138.8 MW รวมเป็น 190.8 MW คาดกำไรปี 2561 จะเติบโดดเด่นเท่ากับ 570 ล้านบาท หรือโต 55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้เมื่อบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มขึ้นถึง 190.8 MW ในปี 2564 (เต็มปี) คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1,518 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 42.5% ต่อปี (CAGR)

สำหรับ SSP นับเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยรายแรกที่เข้าไปพัฒนาโครงการในประเทศมองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลักมากกว่า 80% ทำให้เรามองว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในมองโกเลียที่พยายามลดสัดส่วนการพึ่งพิงพลังไฟฟ้าจากถ่านหิน

 

Back to top button