เปิด 6 กลุ่มธุรกิจโดนผลกระทบต้นทุนขนส่งพุ่ง หลังราคาน้ำมันดิบทะลุ 80 ดอลล์ฯ

พาณิชย์ สั่งเบรกฯแม่ค้าอัพราคาอาหารสำเร็จรูป แจงต้นทุนเพิ่มแค่ 0.20 บ./จาน พร้อมเปิด 6 กลุ่มธุรกิจโดนผลกระทบต้นทุนขนส่งพุ่ง หลังราคาน้ำมันดีเซลขึ้นตามน้ำมันดิบโลก


นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ต้นทุนจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่งอีก 5% ตามราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก นั้น พบว่ากระทบราคาขายปลีกสินค้าตั้งแต่ 0.0032-0.4853% โดยสินค้าที่กระทบน้อยสุดคือผ้าอนามัย และสูงสุดคือปูนซีเมนต์ ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มกระทบตั้งแต่ 0.0178-0.2772% โดยปลากระป๋องได้รับผลกระทบต่ำสุด และนมถั่วเหลืองสูงสุด และกลุ่มปัจจัยการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช กระทบ 0.0848%, ปุ๋ยเคมี กระทบ 0.2452% เป็นต้น จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ผลิตสินค้าจะใช้เป็นข้ออ้างปรับขึ้นราคาสินค้า

นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบของการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขนาดถัง 15 กก. จาก 353 บาทต่อถัง เป็น 395 บาทต่อถัง หรือปรับเพิ่มขึ้น 42 บาทต่อถัง ว่า กรมได้ศึกษาแล้วว่าส่งผลให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแค่ 15-20 สตางค์ต่อจานต่อชาม จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการหรือพ่อค้า-แม่ค้าที่ประกอบอาหารปรุงสำเร็จจะใช้เป็นเหตุผลปรับขึ้นราคา เพราะราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนน้อยมาก

ทั้งนี้ การคำนวณพบว่าก๊าซหุงต้ม 1 ถัง สามารถปรุงอาหารได้ 200-300 จาน/ชาม โดยหากขายวันละ 100 ชาม เช่น ก๋วยเตี๋ยว เดิมจะมีต้นทุนก๊าซหุงต้มเดิมอยู่ที่ 1.68 ต่อชาม แต่เมื่อราคาก๊าซเพิ่มเป็น 395 บาทต่อถัง จะมีต้นทุนอยู่ที่ 1.88 บาทต่อชาม หรือเพิ่มขึ้น 20 สตางค์เท่านั้น ซึ่งหากขายได้มากกว่านี้ ต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลงอีก จะเห็นได้ว่าราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ขึ้นแค่หลักสตางค์ จึงไม่ใช่เหตุผลนำมาใช้ปรับขึ้นราคา

“กรมจะหารือกับผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า หลังจากมีแรงกดดันทั้งการปรับขึ้นค่าขนส่งและการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล โดยจะขอความร่วมมือให้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าเอาไว้ก่อน หากต้นทุนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถรับได้”

 

ขณะที่ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทะลุ 30 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านพลังงานที่สูงจนเกินไป และที่ผ่านมาไม่เคยปรับขึ้นราคาขนส่งมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจากการประชุมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศเมื่อวันที่ 27 เม.ย.จึงมีมติร่วมกันว่าให้เตรียมชงเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก 5% ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับการขนส่งราว 250 บาทต่อ 100 กิโลเมตร และจะไม่กระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและวัตถุดิบการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นสัดส่วนไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนรวม โดยเมื่อนำมาคิดราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมแล้วอยู่ที่ราว 0.0014 บาท ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งสตางค์เลยด้วยซ้ำ จึงไม่สามารถนำเหตุผลดังกล่าวมาอ้างกับประชาชนได้

“นอกจากจะเสนอเรื่องปรับขึ้นราคาแล้ว ยังต้องการเสนอให้รัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นำออกมาพยุงราคาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนควบคู่ไปด้วย โดยตัวเลขที่ผู้ประกอบการมองว่าราคาดีเซลที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร” นายทองอยู่กล่าว

ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ได้แจ้งไปยังสมาคมและสหพันธ์ต่างๆ ให้ชะลอในเรื่องของการปรับอัตราค่าขนส่งก่อน เพราะการศึกษาโครงสร้างราคาอัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างทุกปัจจัยให้ครอบคลุมทุกด้านในอีก 2-3 เดือน จึงต้องรอผลการศึกษาก่อน

ขณะเดียวกัน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงเตรียมประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เร่งด่วนภายในสัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมันด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะภาคขนส่งทั้งรถบรรทุก รถโดยสารธารณะ และเรือโดยสาร ที่จะไม่ทำให้ต้องปรับขึ้นค่าขนส่งและบริการเพิ่มขึ้น

 

Back to top button