MCS คาดผลประกอบการ Q2/58 พลิกเป็นกำไร เล็งขยายช่องทางขายไปสหรัฐฯ

MCS คาดผลประกอบการใน Q2/58 พลิกเป็นกำไร จากขาดทุน 18.70 ลบ. ใน Q2/57 หลังมองมีการส่งออกสูงถึง 10,000 ตัน เผยเจรจาพันธมิตรญี่ปุ่นสรุปรูปแบบการลงทุนธุรกิจติดตั้งโครงเหล็กใน1-2 เดือนนี้ เล็งขยายช่องทางขายไปยังสหรัฐฯ


นายไนยวน ชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม.ซี.เอส สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/58 นั้น คาดว่าเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และจะพลิกเป็นมีกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายเพียง 47 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 18.70 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่งออกเพียง 720 ตัน แต่คาดว่าไตรมาส 2 นี้จะสามารถส่งออกได้สูงถึง 10,000 ตัน ดังนั้นจะส่งผลให้บริษัทมีกำไรเข้ามาเพิ่มขึ้น

ขณะที่ทั้งปี 58 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตเป็นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านเยน ขณะที่กำไรก็จะเติบโตในทิศทางเดียวกัน โดยมาจากงานในมือปัจจุบันที่มีอยู่ 2.5 แสนตัน ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 30% และจะรับรู้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 62 รวมถึงยังมีแผนจะเข้าประมูลงานใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น อย่างงาน Olympic ที่จะมีขึ้นในปี 63

ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในญี่ปุ่นเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจติดตั้งโครงเหล็ก โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุนภายใน 1-2 เดือนนี้ เบื้องต้นบริษัทคาดหวังจะเข้าไปซื้อหุ้นส่วนหนึ่งในบริษัทที่ญี่ปุ่นที่มีกำลังการผลิตราว 20,000 ตัน ซึ่งหาก MCS เข้าไปลงทุนจะส่งผลทำให้กำลังการผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้น และสามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

โดยล่าสุดบริษัทได้งานใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 100,000 ตัน ส่งผลให้มีงานรับรู้เป็นรายได้ต่อเนื่องไปถึงปี 62 จากเดิมที่มีงานในมืออยู่แล้ว 150,000 ตันรับรู้รายได้ถึงปี 60

ประกอบกับ บริษัทเตรียมขยายช่องทางการขายไปยังประเทศสหรัฐ จากที่ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วนถึง 90% นอกจากนั้น ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 240,000 เยนต่อตัน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่ราคาเหล็กจะอยู่ที่ 80,000-100,000 เยนต่อตัน ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน และการส่งมอบงานบางโครงการที่มีความยากของงาน ทำให้มีราคาขายที่สูงกว่าราคาขายปกติ โดยปีนี้คาดว่าในส่วนของ MCS ประเทศไทย คาดว่าจะส่งออกประมาณ 40,000-45,000 ตัน 

โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่โรงงานที่อยุธยาประมาณ 70,000 ตันต่อปี โดยในปีนี้คาดว่าจะใช้กำลังการผลิตโดยรวมประมาณ 40,000-45,000 ตัน ซึ่งบริษัทต้องสำรองไว้ในส่วนของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมของลูกค้าอีกประมาณ 10,000 ตันต่อปี

สำหรับแผนการขยายการลงทุนนั้น โดยปกติแล้วทางบริษัทจะตั้งงบประมาณเรื่องการลงทุนปรับปรุงโรงงาน หรือต่อเติมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มการผลิต การขยายโรงงานเพิ่มเติม โดยใช้งบประมาณแต่ละปีไม่น้อยกว่าค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ของบริษัทฯ โดยในปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเยนที่มีการอ่อนตัวนั้น ที่ผ่านมาบริษัทมีการสั่งซื้อเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักเป็นสกุลเงินเยนอยู่แล้ว จึงทำให้บริษัทฯสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินการในส่วนนี้ได้พอสมควร

Back to top button