NOK เร่งอุดรอยรั่วค่าใช้จ่ายเกินจริง หวังพลิกฟื้นธุรกิจ เล็งขายตั๋วผ่าน “ซีเอ็ด” 1 ก.ย.62

NOK เร่งอุดรอยรั่วค่าใช้จ่ายเกินจริง หวังพลิกฟื้นธุรกิจ เล็งขายตั๋วผ่าน "ซีเอ็ด" 1 ก.ย.62


นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (มิ.ย.-ธ.ค. 2562) NOK ตั้งเป้าที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ลงให้ได้ 20% ซึ่งหากทำได้ตามเป้าดังกล่าว ประเมินว่า NOK จะหยุดขาดทุน หรือถึงจุดคุ้มทุนได้ทันที

ทั้งนี้เบื้องต้นมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้า เพราะตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 3 เดือน ได้มีการนำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ NOK มาตรวจสอบทั้งหมด รวมแล้วประมาณ 600 สัญญา และพบว่าสัญญาส่วนใหญ่มีการจ้างงานเกินจริง มีค่าจ้างสูงผิดปกติ และไม่สอดคล้องกับธุรกิจที่ต้องบริหารค่าใช้จ่ายให้ประหยัดมากที่สุด

“เราได้เอาสัญญาทั้งหมดมาดู รวม ๆ ประมาณ 600 สัญญา ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นสัญญาที่ไม่ปกติ มีการจ่ายค่าจ้างสูงเกินจริง ผมจึงเร่งเคลียร์เรื่องนี้ เช่น สัญญาไหนเจรจาได้ก็เจรจา สัญญาไหนยกเลิกได้ก็ยกเลิกเลย โดยสัญญาทั้งหมดจะทยอยหมดอายุประมาณปี 2563 และจากการเคลียร์สัญญาดังกล่าวทำให้เราปรับลดค่าใช้จ่ายลงได้เยอะมาก ตั้งเป้าว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะพยายามลดลงให้ได้ 20% ถ้าทำได้เราจะหยุดขาดทุนทันที ถามว่าปีหน้าจะมีกำไรเลยหรือไม่ เรายังไม่อยากสัญญาขนาดนั้น แต่ยืนยันว่าผลประกอบการทั้งปี 2562 จะขาดทุนลดลงจากปีก่อนแน่นอน” นายวุฒิภูมิ กล่าว

นายวุฒิภูมิ กล่าวถึงแผนการแก้ปัญหาธุรกิจ NOK ว่า ขณะนี้ตนได้วางแผนเป็นแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นแผนหลักคือ “เพิ่มรายได้” และ “ลดต้นทุน”

โดยแผนในระยะสั้นนั้นจะประกอบด้วย

1. การเช่าเครื่องบินเพิ่ม โดยภายในไตรมาส 4 ปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 2562) จะเช่าเพิ่มอีก 2 ลำเป็นแบบโบอิ้ง 787-800 ระยะเวลาเช่าประมาณ 4-5 ปี ขณะที่ปัจจุบัน NOK มีฝูงบินที่ 22 ลำ (เช่าทั้งหมด) แบ่งเป็น Q400 จำนวน 8 ลำ และแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ พร้อมสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม 8 ลำ แต่เนื่องจากเป็นแบบโบอิ้ง 737 MAX ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศหลังเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทาง NOK จึงต้องเจรจากับผู้ผลิตก่อนว่าจะปรับเปลี่ยนสัญญาการซื้อได้หรือไม่ อย่างไร

2. การเปิดเส้นทางบินเพิ่มสู่เมืองรองต่างประเทศ โดยล่าสุดช่วงไตรมาส 3/2562 (ก.ค.-ก.ย. 2562) NOK ได้เปิดบินสู่ประเทศอินเดีย 2 เมือง คือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-กูวาฮาติ และกรุงเทพฯ-นิวเดลี ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/2562 ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีเปิดบินกรุงเทพฯ-ฮิโรชิม่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศญี่ปุ่น และ NOK ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งการปรับลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งไม่คิดค่าบริการบางรายการด้วย

สำหรับเส้นทางฮิโรชิม่านั้น NOK มุ่งตลาดผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่จะมาทัวร์สุขภาพในประเทศไทย และนักธุรกิจ โดยในปีแรกที่เปิดบินนั้นประเมินว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) จะเฉลี่ยไม่ถึง 80% และจะเริ่มเพิ่มเป็น 80% ในปีที่ 2 หลังจาก NOK ได้ทำการตลาดจนเป็นที่รู้จักแล้ว

3. การขนส่งพัสดุใต้ท้องเครื่องบิน ซึ่ง NOK ได้เซ็นสัญญากับบริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศระดับโลกแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทขนส่งสินค้าดังกล่าวได้มีการการันตีรายได้ขั้นต่ำให้ NOK ด้วย และ

4.การเพิ่มรายได้ที่ไม่ได้มาจากการขายตั๋วโดยสาร ซึ่งสายการบินอื่นดำเนินการมานานแล้ว โดยมีสัดส่วนรายได้ตรงนี้ที่ 20-30% ขณะที่ NOK มีเพียง 12% เท่านั้น

โดยเบื้องต้น NOK จะมีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงแรม ด้วยการเป็นตัวกลางการขายระหว่างผู้โดยสารและผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งผู้โดยสารสามารถเข้าไปดูรายการที่หน้าเว็บไซต์ของ NOK ได้ และจะมีการลิงก์ไปสู่โรงแรมที่เป็นพันธมิตรของ NOK ขณะที่ NOK จะมีรายได้ส่วนนี้จากการจำหน่ายตั๋ว  อีกทั้ง NOK ยังมีแผนประสานกับผู้ประกอบการนำเที่ยวท้องถิ่น เพื่อขายแพ็กเกจรวมกับตั๋วโดยสารด้วย

ส่วนแผนระยะยาวนั้น NOK จะดำเนินการในนาม Thai Group ซึ่งประกอบด้วย NOK รวมถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI พร้อมทั้ง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดยต้องรอพิจารณาแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำของ THAI ก่อนว่า จะนำมาบินเส้นทางไหน อย่างไร หากมาบินในเส้นทางของไทยสมายล์จะทับซ้อนกับ NOK หรือไม่ รวมทั้งต้องรอนโยบายจากภาครัฐเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศ ซึ่งเบื้องต้น NOK มีแผนเปิดบินสู่เมืองรองเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินเมืองรองที่เปิดบินอยู่แล้ว

นายวุฒิภูมิ กล่าวเพิ่มเติมถึงการแก้ปัญหาความล่าช้าของเที่ยวบิน (ดีเลย์) ซึ่งเป็นประเด็นที่ NOK โดนโจมตีอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ NOK ได้ปรับการแสดงเวลาการบินให้ตรงตามเวลาการบินจริงแล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารทราบชัดเจนตั้งแต่จองตั๋วโดยสารว่าเที่ยวบินออกเวลาใด ซึ่งจะสามารถลดการร้องเรียนลงได้ อีกทั้ง NOK ได้ทำการสำรองอะไหล่เครื่องบิน ซึ่งเดิมไม่มีการสำรอง ทำให้เครื่องบินที่อะไหล่ชำรุดต้องจอดรออะไหล่ 3-6 วัน

“เราลงทุนใน NOK ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 67% ที่ 3,000 ล้านบาท ผมเอาเงินส่วนนี้มาซื้ออะไหล่ไว้สำรอง 80 ล้านบาท ซึ่งแต่ก่อนไม่มีการสำรองเลย พอมีเครื่องที่อะไหล่ชำรุดต้องจอดรออะไหล่มา 3-6 วัน ลองคิดง่าย ๆ ว่า เครื่องบิน 1 ลำ บินได้ 8 เที่ยวบิน 1 เที่ยวบินมีผู้โดยสารประมาณ 200 คน หากต้องจอดรออะไหล่นานขนาดนั้นสภาพจะเป็นยังไง” นายวุฒิภูมิ กล่าว

ส่วนปัญหาการขาดแคลนนักบินนั้น ยืนยันว่า NOK แก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน NOK มีนักบินมากเกินเครื่องบิน เนื่องจากมีการฝึกนักบินเพิ่มเพื่อรองรับเครื่องบินใหม่ 8 ลำ แต่มาประสบปัญหาไม่สามารถรับมอบได้ดังกล่าว รวมทั้งมีการยกเลิกให้บริการเครื่องบิน ATR (ใบพัด) ที่อายุการใช้งานเกิน 14 ปี อีก 3 ลำ โดย NOK ได้แก้ปัญหาด้วยการให้นักบินที่สมัครใจอยู่กับ NOK ต่อ เข้ารับการฝึกบินเครื่องบินประเภทอื่นแทน

นอกจากนี้ นายวุฒิภูมิเปิดเผยเพิ่มเติมถึงแผนการจัดจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านหน้าร้าน “ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์” ในเครือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE-ED เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นจะเริ่มทดลองจำหน่ายจำนวน 10 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.ย.2562 โดยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทฯ

Back to top button