“สมคิด” ถกบอร์ด PPP เห็นชอบหลักการ 2 โครงการเชิงสังคม-เร่งจี้โครงการร่วมทุนที่ยังล่าช้า

“สมคิด” ถกบอร์ด PPP เห็นชอบหลักการ 2 โครงการเชิงสังคม-เร่งจี้โครงการร่วมทุนที่ยังล่าช้า


 

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2562 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาความเหมาะสมของ 2 โครงการ PPP ในเชิงสังคม ซึ่งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยขอให้เร่งรัดให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย

คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาความเหมาะสมของหลักการของโครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์ มูลค่ารวมกว่า 8,200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการ PPP เชิงสังคมในกิจการด้านสาธารณสุขโครงการแรก โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ขนาด 510 เตียง ตั้งอยู่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพ โดยมีบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ครอบคลุม ในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ และช่วยลดความแออัดในการใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐ

โดยเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด และรัฐจะเป็นผู้บริหารและให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี และได้เร่งรัดให้พิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะมาตรการ BOI ด้านภาษี และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการจากการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน

คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาความเหมาะสมของหลักการของโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ของการเคหะแห่งชาติ มูลค่ารวมกว่า 5,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และมีโรงพยาบาลหรือกิจการด้านดูแลรักษาสุขภาพ และศูนย์การค้าชุมชน เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้โครงการที่อยู่อาศัยมีคุณภาพมากขึ้น บนเนื้อที่รวม 52 ไร่ บริเวณตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างทางเลือกด้านที่พักอาศัยให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อรองรับในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยเป็นรูปแบบที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ให้เอกชนเช่าที่ดิน เพื่อดำเนินการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี และได้เร่งรัดให้พิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่เอกชนจะมีส่วนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. 2. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. 3. เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา พ.ศ. …. และ 4. เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ

คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบรายละเอียดของแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (แผน PPP) และแนวทางการจัดทำ ปรับปรุง และติดตามผลการดำเนินการตามแผน PPP โดยมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาดำเนินการโครงการ PPP ของประเทศในภาพรวมต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่

1) กรณีโครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในกรณีที่เป็นท่าเทียบเรือเฉพาะจะถือเป็นบริการสาธารณะหรือไม่ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือเอกชน หรือท่าเทียบเรือที่อยูภายใต้การกำกับของ กนอ. ถ้าเอกชนร่วมลงทุนก็ถือว่าอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมลงทุน

2) กรณีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางที่ประชุมเห็นว่า ไม่ถือเป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่ต้องให้ที่ประชุม PPP พิจารณา โดยให้ทางมหาวิทยาลัยไปลงทุนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้

3) กรณีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเล ของกรมธนารักษ์นั้น ที่เป็นปัญหาจากพ.ร.บ.ร่วมลงทุน ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งตามกฏหมายปัจจุบันโครงการนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะ แต่เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับปี 62 มีบทเฉพาะกาลที่ต้องดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ ที่ประชุมจึงมีมติให้พิจารณาตามกฎหมายเดิม แม้จะไม่ตรงกับกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ในปี 2562 ก็ตาม

4) กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เนื่องจากมีอยู่หนึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในปี 63 ซึ่งในพ.ร.บ.ร่วมลงทุนได้กำหนดให้ก่อน 5 ปีจะหมดสัญญาจะต้องมีการศึกษาผลกระทบ ที่ประชุมได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จะสามารถแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาใหม่ ซึ่งถ้ามีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร ในช่วงที่สัญญายังไม่สิ้นสุดลงก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้ ซึ่งแม้ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบก่อนเวลา 5 ปี ก็ไม่เป็นเหตุให้การแก้ไขสัญญาทำไม่ได้ จึงเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมและกทพ.สามารถไปเจรจาปรับปรุงสัญญาร่วมกับสัญญาอื่นได้

5) กรณีการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่เข้าข่าย PPP เนื่องจากไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กับภาคเอกชน

6) กรณีโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมติ ครม.เดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ จึงไม่เข้าข่ายที่ PPP ต้องพิจารณา

Back to top button