
AOT ดีดบวก 2% ลุยเปิดประมูล PPP ปลายปี 68 หาผู้ประกอบการรายที่ 2 รับงานภาคพื้น 9 พันล้าน
AOT เด้ง 2% เดินหน้าเปิดประมูล PPP ปลายปีนี้ คัดเลือกเอกชนรับงานโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 2 วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ณ เวลา 10:43 น. อยู่ที่ระดับ 30.75 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.65% สูงสุดที่ระดับ 31 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 30.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 208.82 ล้านบาท
รายงานข่าวจาก AOT ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 มีมติอนุมัติให้ AOT ดําเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นและการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 2 นั้น AOT จะดําเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งคาดว่าจะประกาศเชิญชวนได้ช่วงปลายปี 2568
สำหรับโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นและการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีมูลค่าโครงการกว่า 9,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 20 ปี โดย AOT จะคัดเลือกเอกชนในรูปแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ประเภท Net Cost เพื่อทดแทนผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2569
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกิจการการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE) และกิจการการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (PHS) ทาง AOT ได้พิจารณาให้สิทธิการประกอบกิจการแยกกัน ดังนี้ กิจการ GSE ให้สิทธิการประกอบกิจการผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่
1.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยสิ้นสุดสัญญาปี 2583 และ
2.บริษัท บริการภาคพื้นกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (มีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 98.88%) สิ้นสุดสัญญาปี 2569
กิจการ PHS ให้สิทธิการประกอบกิจการกับผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่
1.THAI สิ้นสุดสัญญาปี 2583
2.บริษัท บริการภาคพื้นกรุงเทพเวิลด์ไวด์ฯ สิ้นสุดสัญญาปี 2564 และ
3.บริษัท สุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด สิ้นสุดสัญญาปี 2564
โดยรายที่ 2-3 นั้น ปัจจุบัน AOT ได้ต่ออายุสัญญาชั่วคราวไปจนกว่าจะได้ผู้ประกอบการจากการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
อย่างไรก็ตามในการจัดหาผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ครั้งนี้ จะครอบคลุมการดำเนินกิจการทั้ง GSE และ PHS เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการในกิจการ PHS ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าภายในปี 2575 จะมีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเห็นว่าควรมีจำนวนผู้ประกอบการ GSE จำนวน 3 ราย และผู้ประกอบการ PHS จำนวน 4-5 ราย
ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ที่ได้รับงานจะมีขอบเขตการให้บริการ แบ่งเป็น
1.กลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นที่ต้องให้บริการแก่สายการบิน เช่น กลุ่มบริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน กลุ่มบริการขนถ่ายและเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์
2.กลุ่มบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การให้บริการการจัดการทั่วไปด้านภาคพื้น การให้บริการด้านผู้โดยสาร