วิกฤต! “คพ.” ประกาศพื้นที่สีแดง “กทม.-ปริมณฑล” ค่าฝุ่นสูงทะลุ 100 มคก.

“กทม.-ปริมณฑล” วิกฤต! “กรมควบคุมมลพิษ” ประกาศพื้นที่สีแดง ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงทะลุ 100 มคก. มีผลกระทบต่อสุขภาพ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ม.ค.63) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 10 มกราคม 2563 เมื่อเวลา 7.00 น. ระบุว่า จากผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ  โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 42 – 109 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) พบว่าปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่เมื่อเทียบกับช่วงเช้าของเมื่อวาน

โดยพบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (PM 2.5) เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 42 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่ (พื้นที่สีแดง) ได้แก่ ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 91 ไมโครกรัม , ริมถนนสามเสน เขตพระนคร 92 ไมโครกรัม , ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 93 ไมโครกรัม , ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย 97 ไมโครกรัม , ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ 101 ไมโครกรัม และ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 109 ไมโครกรัม

 

ทั้งนี้ มีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยระบุว่า ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด

ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 07.00 น ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเกินค่ามาตรฐานจำนวน 26 พื้นที่ คือ เขตราชเทวี เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตบางกะปิ เขตลาดกระบัง เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม เขตสวนหลวง เขตคลองสามวา เขตบางคอแหลม เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางขุนเทียน และเขตพระนคร

โดยตรวจวัดได้ในช่วง 42-106 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คิดเป็นร้อยละ 96.3 จากจำนวนเขตที่มีสถานีตรวจวัดทั้งหมด  ซึ่งคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ-มีผลกระทบต่อสุขภาพ  ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้แนะนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ-มีผลกระทบต่อสุขภาพ ให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น Air Visual เมื่อเวลา 10.57 น. วันนี้ ระบุว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 187 (PM 2.5 อยู่ที่ 57.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ติดอันดับที่ 5 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

Back to top button