สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 เม.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 เม.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) ขานรับมุมมองบวกที่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐนิวยอร์กซึ่งมีรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,949.76 จุด เพิ่มขึ้น 558.99 จุด หรือ +2.39% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,846.06 จุด เพิ่มขึ้น 84.43 จุด หรือ +3.06% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,515.74 จุด เพิ่มขึ้น 323.32 จุด หรือ +3.95%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลการค้าของจีนที่ดีเกินคาด และจากสัญญาณที่บ่งชี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใช้ได้ผล เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ชะลอตัวลง

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.64% ปิดที่ 333.91 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,523.91 จุด เพิ่มขึ้น 17.07 จุด หรือ +0.38%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,696.56 จุด เพิ่มขึ้น 131.82 จุด หรือ +1.25% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,791.31 จุด ลดลง 51.35 จุด หรือ -0.88%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าอังกฤษจะยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไปอีก หลังจากรัฐบาลส่งสัญญาณว่า จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสัปดาห์นี้ หลังจากยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งขึ้นทะลุระดับ 12,000 ราย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,791.31 จุด ลดลง 51.35 จุด หรือ -0.88%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 2.30 ดอลลาร์ หรือ 10.3% ปิดที่ 20.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 6.7% ปิดที่ 29.60 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุตลาดทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.5 ดอลลาร์ หรือ 0.43% ปิดที่ 1768.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2555

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 59.3 เซนต์ หรือ 3.82% ปิดที่ 16.13 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 69.9 ดอลลาร์ หรือ 9.32% ปิดที่ 819.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.70 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,185.40 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโร หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่า รัฐบาลของหลายประเทศอาจจะกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส-19 เริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.16 เยน จากระดับ 107.52 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9602 ฟรังก์ จากระดับ 0.9662 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3909 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3875 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0979 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0922 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2627 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2529 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6434 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6399 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button